Skip to main content

ก.แรงงาน ส่งเสริมงานที่มีคุณค่า เพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานแรงงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

รายละเอียดเนื้อหา

            ก.แรงงาน ร่วมอภิปรายกิจกรรมคู่ขนานเรื่องงานที่มีคุณค่า ความครอบคลุม และความเสมอภาค สำหรับแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ย้ำ รัฐบาลให้ความสำคัญการพัฒนาวาระการทำงานที่มีคุณค่า ร่วมมือกับทุกฝ่าย สร้างความเท่าเทียม ยกระดับมาตรฐานแรงงานสู่สากล

          เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2562 นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายสมศักดิ์ อภิวันทนกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานร่วมการอภิปรายในกิจกรรมคู่ขนานเรื่องงานที่มีคุณค่า ความครอบคลุม และความเสมอภาค สำหรับแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Decent Work, inclusiveness and equality for migrant workers in South East Asia) ในการประชุม Asia-Pacific Forum on Sustainable Development (APFSD) ครั้งที่ 6 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 – 29 มีนาคม 2562 ณ คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (UNESCAP) อาคารองค์การสหประชาชาติ ถนนราชดำเนิน กรุงเทพมหานคร
          นายสมศักดิ์ฯ กล่าวว่า รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาวาระการทำงานที่มีคุณค่ามาโดยตลอด โดยได้มีการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ขึ้น ซึ่งเป็นการวางแผนประเทศระยะยาว ภายใต้นโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” ที่มุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไปสู่เป้าหมาย “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้ง กระทรวงแรงงาน ได้จัดทำกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศในระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายงานที่มีคุณค่า หรือ Decent Work นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานยังได้ร่วมกับ ILO และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนงานระดับชาติว่าด้วยงานที่มีคุณค่าของประเทศไทย ปี 2562-2564 เป็นแผนแรกของประเทศ และอยู่ระหว่างดำเนินการโครงการความร่วมมือกับหลายหน่วยงาน/ประเทศ ทั้งในระดับทวิภาคี และระดับพหุภาคี ได้แก่ โครงการสิทธิจากเรือสู่ฝั่ง โครงการความปลอดภัยและยุติธรรม: สิทธิและโอกาสของแรงงานต่างด้าวสตรีในภูมิภาคอาเซียน โครงการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามโครงการ โครงการการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชีย และโครงการความร่วมมือการเสริมสร้างความเข้มแข็งการบังคับใช้กฎหมายแรงงานโลก เป็นต้น
         “ขอยืนยันว่าประเทศไทยพร้อมสำหรับทุกความร่วมมือเชิงสร้างสรรค์ ที่จะร่วมกันพัฒนากำลังแรงงาน ยกระดับมาตรฐานแรงงานสู่สากล มีอนาคตของงานที่เป็นธรรมและก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทุกคนในสังคมได้อย่างครอบคลุมและเท่าเทียม ก่อให้เกิดงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” นายสมศักดิ์ฯ กล่าวในท้ายสุด

———————————-

กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์/
ชนินทร เพ็ชรทับ ข่าว – ภาพ/
สำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ – ข้อมูล/
28 มีนาคม 2562

TOP