Skip to main content

กมธ.แรงงาน วุฒิสภา ระดมสมอง สัมมนาทางเลือก ทางรอด ตลาดแรงงานไทยหลังยุคโควิด -19

รายละเอียดเนื้อหา

          กรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา ระดมสมอง สัมมนา “ทางเลือก ทางรอด ตลาดแรงงานไทย หลังยุคโควิด – 19” แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ความคิดเห็นจากประสบการณ์ของเข้าร่วมสัมมนา ปรับการปฏิบัติงานเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาภาคแรงงานในอนาคต

          เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2563 ศาสตราจารย์พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานในพิธีกล่าวเปิดการสัมมนาเรื่อง “ทางเลือกและทางรอดของตลาดแรงงานไทยหลังยุคโควิด – 19” โดยมี พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา กล่าวรายงาน ณ ห้องบอลรูม 1 ชั้น 3 โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร โดยมี นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมในครั้งนี้ โดยกล่าวประธานวุฒิสภากล่าวว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้ผู้คนทั่วโลกต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ระบบสาธารณสุข และความมั่นคงทางเศรษฐกิจ แต่สำหรับประเทศไทยถือเป็นความโชคดีที่เรามีระบบสาธารณสุขที่ดี มีมาตรฐาน ตลอดจนรัฐบาลมีมาตรการและการบริหารจัดการด้านการป้องกันที่เข้มข้น จึงทำให้สามารถควบคุมการแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วอย่างไรก็ตามมาตรการที่รัฐบาลนำมาบังคับใช้ อาทิ การปิดสถานประกอบการ การงด – ห้ามทำกิจกรรมต่างๆ เป็นการชั่วคราว เพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาด ย่อมส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต ก่อให้เกิดปัญหาการว่างงาน การขาดรายได้ของประชาชน

          พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา กล่าวว่า สำหรับการสัมมนาดังกล่าว จัดขึ้นโดยคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา และในวันนี้ได้จัดเวทีสัมมนาทางวิชาการขึ้นโดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนา จำนวน 150 คน อาทิ คณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา คณะกรรมธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภา ที่ปรึกษา นักวิชาการ ผู้แทนกระทรวงแรงงาน ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง ผู้แทนสภาหอการค้าไทย และผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นต้น เพื่อร่วมกันระดมสมอง แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ข้อมูล ความคิดเห็นจากประสบการณ์ของผู้เข้าร่วมสัมมนา เกี่ยวกับการทำงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 และภายหลังสถานการณ์คลี่คลาย ทั้งในมุมมองของอาชีพใหม่ๆ ลักษณะการจ้างงานที่เปลี่ยนไป แนวทางการปรับตัวให้อยู่รอดในตลาดแรงงานในอนาคต

          ภายหลังการสัมมนาในครั้งนี้จะได้นำบทสรุปทั้งหมดมาประกอบการพิจารณาศึกษาและการปรับแผนการปฏิบัติงานของคณะกรรมาธิการในปี 2564 ตลอดจนนำเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาภาคแรงงาน ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวในท้ายสุด

++++++++++++++++++++++

กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์

16 กันยายน 2563

TOP