Skip to main content

ก.แรงงาน ประชุมจัดทำแผนพัฒนาทักษะฝีมือคนพิการรองรับการประกอบอาชีพ

รายละเอียดเนื้อหา

          วันที่ 22 ตุลาคม 2563 ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมจัดทำแผนพัฒนาทักษะฝีมือคนพิการรองรับการประกอบอาชีพ โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทักษะฝีมือคนพิการเข้าร่วม ได้แก่ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ผู้แทนคนพิการทั้ง 7 ประเภท กรุงเทพมหานคร สำนักปลัดกระทรวงแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมการจัดหางานและสำนักงานประกันสังคม

           ศาสตราจารย์ นฤมล กล่าวว่า การประชุมในวันนี้ต้องการหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน 3 ประเด็น ได้แก่ แผนการพัฒนาทักษะฝีมือคนพิการ การจัดสรรงบประมาณจากเงินกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เพื่อใช้ในการฝึกอาชีพเตรียมความพร้อมในการทำงานให้แก่คนพิการและผู้ดูแลคนพิการ และการจัดตั้งคณะอนุกรรมการร่วมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาอาชีพคนพิการ โดยคณะกรรมการชุดนี้จะทำหน้าที่กำหนดแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะฝีมือคนพิการ เสนอคณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.ปช.) พิจารณา การช่วยเหลือกลุ่มคนพิการ เป็นหนึ่งในกลุ่มของนโยบายการ “ให้” ของกระทรวงแรงงาน ในการให้คนพิการได้รับโอกาสในการพัฒนาทักษะฝีมือเพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ ให้สามารถอยู่รอดได้ท่ามกลางวิกฤตการณ์ มีงานทำ มีรายได้อย่างยั่งยืน มีความเข้มแข็ง และมีคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อดำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน

          ปัจจุบันประเทศไทยมีคนพิการมากกว่า 2 ล้านคน อยู่ในเขตกรุงเทพ 9.4 หมื่นคน (4.6%) อยู่ต่างจังหวัด 1.96 ล้านคน (95.4 %) เป็นคนพิการที่อยู่ในวัยทำงาน 8.5 แสนคน ซึ่งเป็นคนพิการที่ประกอบอาชีพเพียง 2.6 แสนคน ทำงานด้านการเกษตร จำนวน 1.12 แสนคน (42 %) งานรับจ้าง 6.9 หมื่นคน (26 %) ประกอบอาชีพอิสระ 1.9 หมื่นคน (7 %) ลูกจ้างเอกชน 1.1 หมื่นคน (4 %) รับราชการหรือรัฐวิสาหกิจ 3 พันคน (1 %)

          จากข้อมูลคนพิการในวัยทำงาน 8.5 แสนคน แบ่งเป็น ทางการเคลื่อนไหวจำนวน 3.77 แสน คน (44.2 %) ทางจิตใจหรือพฤติกรรมจำนวน 1.20 แสนคน (14.1 %) ทางสติปัญญา 1.06 แสนคน (12.4 %) ทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย 1.03 แสนคน (12.1 %) พิการซ้อน 7.1 หมื่นคน (8.42 %) ทางการเห็น 5.6 หมื่นคน (6.6 %)

         นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่าคนพิการที่ได้รับการส่งเสริมตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 มาตรา 33 34 และ 35 เพียง 66,932 คน หรือร้อยละ 8 ของคนพิการที่อยู่ในวัยทำงานทั้งหมด ส่วนที่เหลือกว่า 7.7 แสนคน หรือร้อยละ 92 ไม่ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตตามพระราชบัญญัติดังกล่าว (ข้อมูลจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เดือนตุลาคม 2563)

—————————————————————–

กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์

22 ตุลาคม 2563

TOP