Skip to main content

‘จับกัง1’ ปลื้ม!!! ไตรมาสแรกปี 64 ช่วยคนไทยมีงานทำแล้วเกือบ 7 แสนคน เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบกว่า 2.7 หมื่นล้านบาท

รายละเอียดเนื้อหา

          นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมาย นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐและเอกชน (Co- Payment) ชี้แจงการปรับปรุงเงื่อนไขคุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการใหม่เพื่อให้นักศึกษาจบใหม่ และนายจ้าง/สถานประกอบการ ได้รับประโยชน์สูงสุด เสมอภาคกัน เกิดการบรรจุงานโดยเร็วที่สุด

          เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2564 เวลา 13.30 น. นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐและเอกชน (Co- Payment) ครั้งที่ 2/2564  ณ ห้องประชุมเทียน อัชกุล ชั้น 10 กรมการจัดหางาน โดยมี นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงสังกัดกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมประชุม เพื่อติดตามความคืบหน้าผลการบรรจุงานภาครัฐและเอกชน (SJC/ ไทยมีงานทำ/ต่างประเทศ) และผลการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่ โดยภาครัฐและเอกชน (Co- Payment)

          นายสุเทพ กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และกระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับปัญหาการว่างงานในนักศึกษาจบใหม่ที่กำลังเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งนี้ ครม.ได้อนุมัติเห็นชอบการปรับแก้คุณสมบัติและเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่ โดยภาครัฐและเอกชน (Co – payment) เพื่อให้นักศึกษาจบใหม่มีโอกาสได้งานทำ และนายจ้าง/สถานประกอบการเกิดสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งได้รับประโยชน์สูงสุด เสมอภาคกัน และเกิดการบรรจุงานโดยเร็วที่สุด สำหรับเงื่อนไขที่ปรับปรุงใหม่ ดังนี้
          1.คุณสมบัติผู้จบการศึกษาใหม่ มีสัญชาติไทย และอายุไม่เกิน 25 ปี หากอายุเกิน 25 ปี ต้องจบการศึกษา ปี พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป โดยผู้จบการศึกษาใหม่ที่เคยทำงานและอยู่ในระบบประกันสังคม หากเป็นไปตามเงื่อนไขดังกล่าว สามารถร่วมโครงการฯได้
          2.เงื่อนไขสำหรับนายจ้างในการจ่ายค่าจ้าง ให้เป็นไปตามข้อตกลงการจ้างงานระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง แต่ต้องไม่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัด ตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง โดยรัฐบาลให้การอุดหนุนเงินเดือนค่าจ้างไม่เกินร้อยละ 50 ต่อคนต่อเดือน ตามค่าจ้างจริง ทั้งนี้ รัฐจะจ่ายเงินอุดหนุนเป็นไปตามวุฒิการศึกษา ได้แก่ ปริญญาตรี ไม่เกิน 7,500 บาท ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ไม่เกิน 5,750 บาท ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ไม่เกิน 4,700 บาท และมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6) ไม่เกิน 4,345 บาท
          3. ปรับเงื่อนไขการจ่ายเงินอุดหนุนให้แก่ลูกจ้าง โดยการจ่ายเงินอุดหนุนจากรัฐ 3 ครั้งต่อเดือน เพื่อให้สอดคล้องกับรอบการจ่ายเงินค่าจ้างของนายจ้าง/สถานประกอบการ ดังนี้
               1.) นายจ้างจ่ายค่าจ้างภายในสิ้นเดือน รัฐจ่ายเงินอุดหนุนภายในวันที่ 5 ของเดือนถัดไป
               2.) นายจ้างจ่ายค่าจ้างหลังสิ้นเดือน (ภายในวันที่ 1-5 ของเดือนถัดไป) รัฐจ่ายเงินอุดหนุนภายในวันที่ 10 ของเดือนถัดไป
               3.) นายจ้างจ่ายค่าจ้างตามกำหนด ตามข้อ 1) และข้อ 2) แต่การจัดทำเอกสาร หรือข้อมูลในระบบไม่สมบูรณ์ รัฐจ่ายเงินอุดหนุนภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป
          กรณี หลังจากวันที่ 15 หากพบว่า รัฐจ่ายเงินอุดหนุนไม่ครบถ้วนให้สามารถจ่ายเพิ่มเติมได้จนกว่าจะครบตามจำนวนลูกจ้างผู้มีสิทธิ ทั้งนี้ การปรับปรุงการจ่ายเงินอุดหนุนให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่เริ่มโครงการ
          4.ปรับระยะเวลาการดำเนินโครงการ ให้ขยายระยะเวลาร่วมโครงการฯ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2564 โดยรัฐบาลอุดหนุนค่าจ้างแก่ลูกจ้างเป็นระยะเวลา ไม่เกิน12 เดือน ต่อ 1 คน ตลอดระยะเวลาการจ้าง 1 ปี (ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 – 30 พฤศจิกายน 2564) กรณีจ้างหลังวันที่ 1 มกราคม 2564 จะได้รับการอุดหนุนตามระยะเวลาที่จ้างแต่ไม่เกินวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564
          สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่และนายจ้างที่ร่วมโครงการแล้ว และมีสัญญาจ้างถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 หากการอุดหนุนค่าจ้างตามโครงการยังไม่ครบ 12 เดือน สามารถแจ้งความต้องการขยายระยะเวลาการจ้างงานได้ถึงวันสิ้นสุดโครงการ สูงสุดไม่เกินรายละ 12 เดือน

          นายสุเทพ ยังกล่าวรายงานความคืบหน้าผลการบรรจุงาน (Job Expo Thailand 2020) ว่าภายหลังการจัดงานเมื่อปลายเดือนกันยายนปีที่แล้ว ล่าสุดขณะนี้ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 กระทรวงแรงงาน สามารถบรรจุงานในภาพรวมได้แล้วจำนวน 643,103 คน คิดเป็น 64.31 % จากเป้าหมายดำเนินการ 1 ล้านตำแหน่ง โดยแยกเป็น 1) การจ้างงานเอกชน (ไทยมีงานทำ Job expo) 97,177 คน 2) การจ้างงานเอกชนผ่าน (Co – Payment ) ระดับ ม.6 จำนวน 897 คน ปวช. จำนวน 508 คน ปวส.จำนวน 544 คน ปริญญาตรี จำนวน 5,522 คน 3) การจ้างงานต่างประเทศ จำนวน 45,340 คน และ 4) การจ้างงานภาครัฐ/รัฐวิสาหกิจ จำนวน 493,015 คน ก่อให้เกิดรายได้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ จำนวน 27,812,889,590 บาท (สองหมื่นเจ็ดพันแปดร้อยสิบสองล้านแปดแสนแปดหมื่นเก้าพันห้าร้อยเก้าสิบล้านบาทถ้วน) รวมทั้งสามารถช่วยเหลือนายจ้าง/สถานประกอบการให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลให้การอุดหนุนเงินค่าจ้างเป็นเงิน 155,151,045 บาท (หนึ่งร้อยห้าสิบห้าล้านหนึ่งแสนห้าหมื่นหนึ่งพันสี่สิบห้าบาทถ้วน) ทั้งนี้ ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ท่านสุชาติ ชมกลิ่น ได้ติดตามความก้าวหน้าผลการบรรจุงาน (Job Expo Thailand 2020) มาเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการเสนอ ครม.เพื่อให้มีการปลดล็อคเงื่อนไขคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการจ้างงาน Co Payment เพื่อให้นักศึกษาจบใหม่ และนายจ้าง/สถานประกอบการ ได้รับประโยชน์สูงสุด เสมอภาคกัน และเกิดการบรรจุงานโดยเร็วที่สุด

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์

13 มกราคม 2564

TOP