Skip to main content

ปลัดแรงงาน ร่วมประชุม ILO ส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ ตอบสนองความจำเป็นของคนงาน

รายละเอียดเนื้อหา

ปลัดกระทรวงแรงงาน ร่วมประชุมคณะประศาสน์การ สมัยที่ 329 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ : การปรับเปลี่ยนสถานะเศรษฐกิจนอกระบบเป็นรูปแบบทางการ เสริมสร้างความตระหนักและสมรรถนะขององค์ประกอบไตรภาคี รวมทั้งส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศและการตอบสนองความจำเป็นของคนงานที่อยู่ในสถานการณ์ที่เปราะบาง

 
  หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมประชุมคณะประศาสน์การ สมัยที่ 329 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ระเบียบวาระ GB.329/POL/2 ผลลัพธ์ 6 : การปรับเปลี่ยนสถานะเศรษฐกิจนอกระบบเป็นรูปแบบทางการ ณ สำนักงานใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์  เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 60 โดยกล่าวถ้อยแถลงว่า “ประเทศไทยยินดีต่อความสำเร็จและก้าวหน้าในการดำเนินงานของ ILO ภายใต้ผลลัพธ์ที่ 6 ของแผนงานงบประมาณที่ผ่านมา ที่ได้เอื้ออำนวยต่อการปรับเปลี่ยนสถานะสู่ระบบเศรษฐกิจแบบเป็นทางการในหลายประเทศทั่วโลก เราสนับสนุนความพยายามอย่างต่อเนื่องเพื่อส่งเสริม ข้อแนะฉบับที่ 204 และยุทธศาสตร์การปฏิบัติการ พ.ศ. 2559-2564 ในการปรับปรุงกรอบการทำงานด้านนโยบายและกฎหมาย เพื่อเสริมสร้างความตระหนักและสมรรถนะขององค์ประกอบไตรภาคี รวมทั้งส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศและการตอบสนองความจำเป็นของคนงานที่อยู่ในสถานการณ์ที่เปราะบาง เราเชื่อว่าควรให้ความสนใจในการส่งเสริมการเจรจาทางสังคมเพื่อให้หลักประกันว่าได้รับฟังเสียงของคนงานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดในภาคต่างๆ ของเศรษฐกิจ และเราไม่ควรทอดทิ้งผู้ใดไว้ข้างหลัง เมื่อเราปรับสถานะของเศรษฐกิจนอกระบบเข้าสู่รูปแบบแบบทางการ เศรษฐกิจไทยพึ่งพาแรงงานนอกระบบอย่างมาก และเรากำลังพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะปรับปรุงความมั่นคงในการทำงาน สิทธิประโยชน์ด้านประกันสังคมและมาตรการฐานการดำรงชีพของคนงานทุกคน ในช่วงไม่กี่ปีนี้ เราได้มีการพัฒนากฎหมายและกฎระเบียบด้านการคุ้มครองแรงงานเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งในการคุ้มครองแรงงานในภาคเกษตรและผู้รับงานไปทำที่บ้าน นอกจากนี้ยังให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่ผู้รับงานไปทำที่บ้านและดำเนินกิจกรรมการสร้างศักยภาพเพื่อให้มั่นใจว่ากำลังแรงงานของเรามีทักษะฝีมือที่จำเป็นรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกแห่งการทำงาน”
          ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อว่า “คณะกรรมการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบแห่งชาติ  ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เป็นหลักประกันได้ว่าแนวนโยบายที่สำคัญต่างๆ ในเรื่องนี้ได้รับการสนับสนุนและผ่านความเห็นชอบของผู้นำระดับสูงสุดของประเทศ การปรับเปลี่ยนสถานะสู่รูปแบบเศรษฐกิจแบบทางการถือเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ 8 ของวาระ ค.ศ. 2030 ว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและครอบคลุม การจ้างงานที่มีผลิตภาพและเต็มที่ และงานที่มีคุณค่าแก่ ทุกคน ประเทศไทยขอให้พิจารณาถึงความจำเป็นและสถานการณ์ขององค์ประกอบไตรภาคีในการดำเนินงานต่อไปภายใต้ผลลัพธ์ที่ 6 ให้บังเกิดผล และในการจัดทำแผนงานและงบประมาณสำหรับช่วง 2 ปีต่อไป”
 
+++++++++++++++++++
 
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
18 มีนาคม 2560
TOP