Skip to main content

‘ผู้ตรวจแรงงาน’ เปิดประชุม ‘สร้างการรับรู้อนุสัญญา 190 และข้อแนะ 206 ว่าด้วยความรุนแรงและการล่วงละเมิดในโลกแห่งการทํางาน’

รายละเอียดเนื้อหา

ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน เปิดการประชุมเพื่อสร้างการรับรู้และหารือทิศทางสําหรับประเทศไทยต่ออนุสัญญาฉบับที่ 190 และข้อแนะฉบับที่ 206 ว่าด้วยความรุนแรงและการล่วงละเมิดในโลกแห่งการทํางาน

          วันนี้ (21 ก.พ. 63) เวลา 09.00 น. นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นางพัฒนา พันธุฟัก ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานร่วมเปิดการประชุมเพื่อสร้างการรับรู้และหารือทิศทางสําหรับประเทศไทยต่ออนุสัญญาฉบับที่ 190 และข้อแนะฉบับที่ 206 ว่าด้วยความรุนแรงและการล่วงละเมิดในโลกแห่งการทํางาน ณ ห้องพิมานแมน โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ โดย ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า “รัฐบาลไทยตระหนักถึงความสําคัญของแรงงาน และมีเป้าหมายพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี ให้ผู้ใช้แรงงานทุกกลุ่มอาชีพ ทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างเท่าเทียม โดยรัฐบาลไทย ให้ความสําคัญกับการส่งเสริมและมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ของสหประชาชาติ โดยการลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมงานที่มีคุณค่าสําหรับทุกคน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

          เราตระหนักดีว่า ความรุนแรงและการล่วงละเมิดในโลกแห่งการทํางานเป็นสิ่งที่ขัดต่อ สิทธิมนุษยชน ไม่สามารถยอมรับได้ และไม่ควรที่จะเกิดต่อผู้ใด ไม่ว่าผู้นั้นจะอยู่ในสถานะใดๆ ก็ตาม ประเทศไทยเป็นหนึ่งในสมาชิก 187 ประเทศขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ท่ีได้ลงคะแนนเสียงสนับสนุนการรับรองมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศฉบับใหม่ หรือ อนุสัญญาฉบับที่ 190 และข้อแนะฉบับที่ 206 ว่าด้วยความรุนแรงและการล่วงละเมิด ในโลกแห่งการทํางาน ซึ่งถือเป็นอนุสัญญาฉบับประวัติศาสตร์ที่ได้รับความเห็นชอบจาก ที่ประชุมใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศในสมัยที่ 108 เมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็น Centenary Session หรือ วาระโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี และมีความสําคัญเป็น อย่างยิ่งในฐานะตราสารระหว่างประเทศฉบับแรกที่แสดงถึงความมุ่งมั่นของประชาคมโลก ที่จะขจัดความรุนแรงและการล่วงละเมิดในโลกแห่งการทํางาน

          โดยอนุสัญญาฉบับที่ 190 มีเนื้อหาสาระและขอบเขตที่กว้าง โดยให้ความคุ้มครอง แก่ทุกบุคคลที่เกี่ยวข้องกับโลกของการทํางาน เช่น นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ฝึกงาน ผู้ทดลองงาน และผู้สมัครงาน และบังคับใช้กับความรุนแรงและการล่วงละเมิดที่เกิดขึ้นภายนอกสถานที่ ทํางานด้วย นอกจากนั้น ความรุนแรงและการล่วงละเมิด ยังมีความหมายครอบคลุมความ เสียหายทางร่างกาย จิตใจ เพศ หรือความเสียหายทางเศรษฐกิจด้วย ดังนั้น การสร้างการ ตระหนักแก่ทุกฝ่าย และการพัฒนากฎหมายและระเบียบข้อบังคับของประเทศไทยจึงเป็น สิ่งจําเป็นอย่างยิ่ง”

          “การประชุมในวันนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายในประเทศไทย จะได้เรียนรู้ไปพร้อมกัน เกี่ยวกับบทบัญญัติและการดําเนินการตามอนุสัญญาและข้อแนะ ดังกล่าวจากผู้เชี่ยวชาญขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เกี่ยวกับทิศทางการดําเนินการเกี่ยวกับตราสารทั้ง 2 ฉบับ ที่เหมาะสมกับบริบทและ สถานการณ์ของประเทศไทย ดิฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่านจะได้รับความรู้และ ประสบการณ์ เพื่อนํากลับไปขยายผลและใช้ประโยชน์ในการกําหนดนโยบาย แผนงาน และ มาตรการ หรือพัฒนากฎหมาย ระเบียบและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเผยแพร่ให้ เครือข่ายของท่านได้รับทราบ เพื่อร่วมมือกันต่อสู้กับการใช้ความรุนแรงและการกระทําล่วง ละเมิดในโลกแห่งการทํางานในประเทศไทยตามเจตนารมณ์ต่อไป” ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน กล่าวในท้ายที่สุด

+++++++++++++++++++

กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
ปริยรณ พรหมสาขา ณ สกลนคร ภาพและข่าว
21 กุมภาพันธ์ 2563

TOP