Skip to main content

รมว.สุชาติ มอบที่ปรึกษาฯ ลงพื้นที่เพชรบุรีหารือร่วมทูตแรงงานเมียนมา เร่งช่วยเหลือสิทธิประโยชน์ทดแทนแก่ทายาทลูกจ้างที่เสียชีวิต กรณีเรือล่มกลางอ่าวไทยที่ อ.ชะอำ

รายละเอียดเนื้อหา

 

             นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่เพชรบุรี ประชุมหารือร่วมกับหัวหน้าทูตแรงงานเมียนมาและหน่วยงานในสังกัดเพื่อเร่งช่วยเหลือสิทธิประโยชน์ทดแทนแก่ทายาทลูกจ้างเมียนมาที่เสียชีวิต 3 ราย กรณีเรือล่มกลางอ่าวไทยที่ อ.ชะอำ เน้นย้ำ รัฐบาลและกระทรวงแรงงาน ให้การดูแลคุ้มครองแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายตามหลักสิทธิมนุษยชน ทั้งสิทธิประกันสังคมและการคุ้มครองต่างๆ ตามกฎหมายเหมือนเช่นแรงงานไทยทุกประการ ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัดเพชรบุรี

           วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 10.00 น. นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมหารือตรวจติดตามสถานการณ์และให้ความช่วยเหลือลูกจ้างกรณีเรือล่มกลางอ่าวไทยอำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัดเพชรบุรี โดยมี Mr.thu rein linn (นายตู เล่ง ลิน) หัวหน้าทูตแรงงานเมียนมา นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดเพชรบุรี เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย โดยที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า รัฐบาล ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และกระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มีความห่วงใยต่อเหตุการณ์เรือล่มในครั้งนี้ โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ต้องได้รับการดูแลคุ้มครองตามหลักสิทธิมนุษยชน ทั้งสิทธิประกันสังคมและการคุ้มครองต่างๆ ตามกฎหมายเหมือนเช่นแรงงานไทยทุกประการ ในวันนี้ท่านสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงได้มอบหมายให้ดิฉันลงพื้นที่มาประชุมหารือร่วมกับหัวหน้าทูตแรงงาน เพื่อติดตามสถานการณ์และหาแนวทางให้ความช่วยเหลือลูกจ้างกรณีเกิดเหตุเรือล่มในครั้งนี้ เนื่องจากลูกจ้างที่เสียชีวิตมีทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าว ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเพชรบุรีเข้าไปตรวจสอบดูแลสาเหตุเรือล่ม และขอให้หน่วยงานติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ให้ความช่วยเหลือลูกจ้างในด้านค่าจ้าง ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในช่วงที่ลูกจ้างไม่ได้เข้าทำงานอย่างใกล้ชิด ให้สำนักงานจัดหางานจังหวัดเพชรบุรีตรวจสอบสถานะของคนต่างด้าวว่าได้รับอนุญาตให้เข้ามาถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ และให้สำนักงานประกันสังคมจังหวัดเพชรบุรีตรวจสอบสถานะความเป็นผู้ประกันตนของลูกจ้างเพื่อช่วยเหลือด้านสิทธิประโยชน์ทดแทนตามกฎหมาย ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า มีลูกจ้างแรงงานเมียนมาที่เสียชีวิตทั้ง 3 ราย มีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนเป็นค่าทำศพ รายละ 40,000 บาท และค่าทดแทนร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายเดือนให้กับทายาทเป็นระยะเวลา 10 ปี

          นางธิวัลรัตน์ กล่าวต่อว่า สำหรับลูกจ้างเมียนมาที่เสียชีวิต 3 ราย คือ 1) นาย PYAE PHYO AUNG อายุ 33 ปี ทายาทได้รับเงินทดแทนเดือนละ 7,000 บาท เป็นระยะเวลา 10 ปี รวมเป็นเงิน 840,000 บาท 2) นาย SAW AUNG TUN อายุ 28 ปี ทายาทได้รับเงินทดแทนเดือนละ 7,000 บาท เป็นระยะเวลา 10 ปี รวมเป็นเงิน 840,000 บาท และ 3) นาย SAN KYAW THO อายุ 33 ปี ทายาทได้รับเงินทดแทนเดือนละ 7,000 บาท เป็นระยะเวลา 10 ปี รวมเป็นเงิน 840,000 บาท ทั้งนี้ สำนักงานจัดหางานจังหวัดเพชรบุรี ได้ประสานสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสมุทรสาครและนายจ้างเกี่ยวกับการเบิกสิทธิประโยชน์ดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว

          “กรณีดังกล่าวลูกจ้างที่เสียชีวิตเป็นทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย รัฐบาลและกระทรวงแรงงานไม่ได้ทอดทิ้งหรือนิ่งนอนใจ เพราะแรงงานเหล่านี้เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จะต้องได้รับการดูแลคุ้มครองตามหลักสิทธิมนุษยชน ทั้งสิทธิประกันสังคมและการคุ้มครองต่างๆ ตามกฎหมายเหมือนเช่นแรงงานไทยทุกประการ ” นางธิวัลรัตน์ กล่าวในท้ายสุด

          ด้าน Mr.thu rein linn (นายตู เล่ง ลิน) หัวหน้าทูตแรงงานเมียนมา กล่าวว่า ขอบคุณรัฐบาลไทยที่ให้การช่วยเหลือลูกจ้างแรงงานเมียนมาที่เสียชีวิตกรณีเรือล่มกลางอ่าวไทยอำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ทั้ง 3 ราย ทั้งค่าจัดการศพและจ่ายสิทธิประโยชน์ทดแทนแก่ลูกจ้างแรงงานเมียนมาเป็นตามหลักสิทธิมนุษยชน ทั้งสิทธิประกันสังคมและการคุ้มครองต่างๆ ตามกฎหมายเหมือนเช่นแรงงานไทยทุกประการอย่างดี

 

————————————  

กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์

23 กุมภาพันธ์ 2564

TOP