Skip to main content

‘หม่อมเต่า’ ห่วงลูกจ้างจีเอ็ม เตรียมตำแหน่งงานว่างกว่า 15,000 อัตรา ช่วยคุ้มครองสิทธิตามกฎหมาย

รายละเอียดเนื้อหา

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ส่งที่ปรึกษารัฐมนตรี อธิบดีกรมการจัดหางาน ผู้ตรวจกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน พร้อมประสานจัดหางานจังหวัดพื้นที่อีอีซี ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา และหน่วยงานในสังกัดลงพื้นที่ เตรียมตำแหน่งงานว่างด้านอุตสาหกรรมยานยนต์กว่า 15,000 อัตรา ช่วยเหลือดูแลลูกจ้างจำนวนกว่า 1,500 คน ให้ได้รับสิทธิประโยชน์คุ้มครองตามกฎหมาย

          เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยลูกจ้างกรณี บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส หรือ จีเอ็มจะยุติการจำหน่ายรถยนต์เชฟโรเลตในประเทศไทยภายในสิ้นปี 2563 โดยเกรทวอล มอเตอร์ส จะซื้อศูนย์การผลิตรถยนต์และเครื่องยนต์ของจีเอ็มประเทศไทยในจังหวัดระยอง จึงมอบหมายให้ รองศาสตราจารย์ ดร.จักษ์ พันธ์ชูเพชร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่จังหวัดระยอง โดยมี นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน นางโสภา เกียรตินิรชา ผู้ตรวจราชการกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้การช่วยเหลือลูกจ้างให้ได้รับสิทธิประโยชน์คุ้มครองตามกฎหมาย

          รศ.ดร.จักษ์ฯ กล่าวว่า จากการตรวจสอบของสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยอง พบว่า บริษัท เจนเนอรัลมอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 111/1 หมู่ที่ 4 นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด ตำบลปลวกแดง อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง ประกอบกิจการประกอบรถยนต์เชฟโรเลต ปัจจุบันมีลูกจ้างประมาณ 1,100 คน และบริษัท เจนเนอรัลมอเตอร์ส เพาเวอร์เทรน (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 111/4 หมู่ที่ 4 นิคมฯ อีสเทิร์นซีบอร์ด ตำบลปลวกแดง อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง ประกอบกิจการผลิตเครื่องยนต์ ปัจจุบันมีลูกจ้างประมาณ 400 คน รวมทั้งสองบริษัทมีลูกจ้างประมาณ 1,500 คน กรณีที่บริษัททั้งสองยุติการจำหน่ายรถยนต์เชฟโรเลตในประเทศไทย ภายในสิ้นปี 2563 โดยขายกิจการให้กับ บริษัท เกรท วอล มอเตอร์ส จำกัด (บริษัทผู้ผลิตรถยนต์เอสยูวีและรถปิคอัพรายใหญ่ของประเทศจีน) ซึ่งนายจ้างใหม่มิได้รับโอนลูกจ้างแต่อย่างใดและยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับการรับสมัครลูกจ้างกลุ่มเดิมเข้าทำงานแค่ไหนเพียงใด

          รศ.ดร.จักษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัททั้งสองได้เลิกจ้างลูกจ้างทั้งหมดประมาณ 1,500 คน (ปัจจุบันไม่มีลูกจ้างรับเหมาค่าแรง) โดยมีแผนกำหนดการเลิกจ้างในเบื้องต้น จะเลิกจ้างลูกจ้างในส่วนของการผลิตชิ้นส่วน ปลายเดือนมิถุนายน 2563 เลิกจ้างลูกจ้างในส่วนของเครื่องยนต์ ปลายเดือนตุลาคม 2563 และเลิกจ้างลูกจ้างในส่วนของงานสนันสนุนในปลายปี 2563    

          ทั้งนี้ จากผลการหารือกับผู้แทนบริษัทฯ กับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงแรงงาน โดยทั้งสองฝ่ายจะบูรณาการการทำงานตามภารกิจ โดยบริษัทฯ จะจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน นอกจากนี้ จะจ่ายเงินเพิ่มให้ลูกจ้างเป็นเวลาอีก 4 เดือน ทางด้านหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจะให้การดูแลคุ้มครองสิทธิประโยชน์ ขึ้นทะเบียนว่างงาน การให้บริการจัดหางาน การพัฒนาฝีมือแรงงานให้แก่ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบ ในส่วนของตำแหน่งงานได้ประสานให้จัดหางานจังหวัดและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานในพื้นที่อีอีซี ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ลงพื้นที่ไปช่วยเหลือดูแลลูกจ้างของทั้งสองบริษัทที่มีจำนวนกว่า 1,500 คน เบื้องต้น ได้เตรียมตำแหน่งงานว่างทั่วประเทศที่เกี่ยวกับยานยนต์ไว้แล้วจำนวน 15,132 อัตรา ส่วนใหญ่เป็นแรงงานด้านการผลิต ช่างซ่อมเครื่องจักรกลและยานยนต์อื่นๆ ช่างซ่อมยานยนต์ ช่างเทคนิควิศวกรรม และวิศวกรด้านยานยนต์ เป็นต้น ส่วนตำแหน่งงานว่าง 3 จังหวัดเขตเศรษฐกิจพิเศษ (อีอีซี) แยกเป็น จังหวัดฉะเชิงเทรา 660 คน ชลบุรี 643 คน และระยอง 1,233 คน รวมจำนวนทั้งสิ้น 2,536 คน ทั้งนี้ เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนแก่ลูกจ้างที่ได้รัยผลกระทบให้ได้รับสิทธิประโยชน์คุ้มครองตามกฎหมายต่อไป


กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์

18 กุมภาพันธ์ 2563

TOP