Skip to main content

ไทยกระชับความร่วมมือเอเปค พัฒนาทรัพยากรมนุษย์รองรับอนาคตการทำงานในยุคดิจิทัล

รายละเอียดเนื้อหา

          ก.แรงงาน ร่วมการประชุมหารือด้านนโยบายระดับสูง ภายใต้กรอบความร่วมมือเอเปค การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในยุคดิจิทัล แลกเปลี่ยนเรียนรู้นโยบายการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในมิติการสร้างแนวคิดเกี่ยวกับอนาคตการทำงานในยุคดิจิทัล และนโยบายด้านตลาดแรงงาน การฝึกอบรม การหลักสูตรเพื่อสร้างทักษะ และการคุ้มครองทางสังคม




Preview

Download Images

          เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2560 นายสุทธิ สุโกศล ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมหารือด้านนโยบายระดับสูง ภายใต้กรอบความร่วมมือเอเปค เรื่อง‘การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในยุคดิจิทัล’ ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้แทนจากเขตเศรษฐกิจเอเปค สำนักเลขาธิการเอเปค และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ในส่วนคณะผู้แทนไทยประกอบด้วย ผู้แทนจากกระทรวงศึกษาธิการและสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) โดยการประชุมดังกล่าวเป็นเวทีสำหรับผู้บริหารระดับสูงของเขตเศรษฐกิจเอเปคเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้นโยบายด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในมิติการสร้างแนวคิดเกี่ยวกับอนาคตของการทำงานในยุคดิจิทัล และนโยบายด้านตลาดแรงงาน การฝึกอบรมและการจัดการเรียนการสอนเพื่อสร้างทักษะ และการคุ้มครองทางสังคม
          นายสุทธิ กล่าวว่า ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในยุคดิจิทัล และการพัฒนาทักษะฝีมือเพื่อให้เท่าทันต่อเทคโนโลยีและเทียบเท่ามาตรฐานสากล โดยได้นำเทคโนโลยีมาใช้กำหนดทิศทางและพัฒนาการศึกษา การส่งเสริมการศึกษาด้านเทคนิคและอาชีวศึกษา การกำหนดทิศทางและการพัฒนากำลังคนให้มีทักษะที่จำเป็นต่อการก้าวสู่การทำงาน ตอบสนองกลไกความต้องการของตลาดแรงงาน สามารถเพิ่มผลิตภาพแรงงานไปสู่ Brain power พร้อมทั้งนำระบบดิจิทัลมาให้บริการในเรื่องศูนย์ข้อมูลแรงงานแห่งชาติ การหางาน และการตรวจสอบสิทธิประโยชน์ในยุคดิจิตอล ผ่านระบบโมบายแอปพลิเคชั่น (Mobile Application) เพื่อให้ได้งานที่ตรงกับทักษะฝีมือและตรงกับความต้องการ และประเทศไทยได้กำหนดทิศทางการรับรองหลักสูตร ตลอดจนระบบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ (Nation qualification) รวมถึงกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานในรูปแบบคณะกรรมการระดับชาติมารองรับ เพื่อให้ได้ค่าจ้างที่เป็นธรรมตามมาตรฐานฝีมือและความรู้ความสามารถ ในส่วนของการคุ้มครองทางสังคม ได้มีการขยายระบบประกันสังคมให้ครอบคลุมแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ ตลอดจนมีแนวทางการจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งเป็นการออมระยะยาวเพื่อการเกษียณอายุการทำงานที่สร้างความมั่นคงในชีวิต สำหรับในส่วนของการป้องกันอาชญากรรมทางระบบคอมพิวเตอร์ ประเทศไทยให้ความสำคัญและพร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางไซเบอร์


——————————————————–


กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ – ข่าว/
กลุ่มงานอาเซียน สำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ – ข้อมูล/
17 พฤษภาคม 2560

TOP