Skip to main content

​ก.แรงงาน ผนึก กระทรวงการคลัง ดันแรงงานคุณภาพ สู่ผู้ประกอบการ

รายละเอียดเนื้อหา

          รมช.แรงงาน ร่วมเป็นเกียรติพิธี MOU “บสย. SMEs ต้องชนะ” โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. Soft Loan พลัส ลั่น! พร้อมเดินหน้าพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานสู่การเป็นผู้ประกอบการ

          วันที่ 15  กันยายน 2563 ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “บสย. SMEs ต้องชนะ” โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. Soft Loan พลัส ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กับ สถาบันการเงิน โดยมีนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการคลัง และนายบรรยง วิเศษมงคลชัย ประธานกรรมการ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ร่วมเป็นพยานในพิธีฯ ณ ห้องวายุภักษ์ 4 ชั้น 4 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
          ศาสตราจารย์ นฤมล กล่าวว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน ได้หารือกับ บสย. และจะมีการลงนามความร่วมมือขึ้นในเร็วๆ นี้ โดยที่ผ่านมา กพร.ได้เข้าไปช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีทั้งแรงงานในระบบและนอกระบบ ด้วยการเพิ่มทักษะฝีมือให้มีความรู้และทักษะฝีมือ ให้สามารถนำไปประกอบอาชีพ นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบอาชีพอิสระและกลุ่ม SMEs  บสย.จะเข้ามาให้ความช่วยเหลือผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมและได้รับวุฒิบัตรจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนตามที่บสย.ได้จัดทำโครงการไว้ อีกทั้ง กพร.มีหน่วยงานกระจายอยู่ในภูมิภาคทั้ง 77 จังหวัด สามารถให้การช่วยเหลือได้ตั้งแต่กลุ่มรากหญ้า ปัญหาส่วนใหญ่เมื่อผ่านการฝึกอบรมแล้ว ขาดเงินทุนเพื่อประกอบกิจการ ซึ่งบสย.จะเข้ามาช่วยเหลือและแก้ปัญหาในเรื่องนี้ได้  และกระทรวงการคลังจะทำหน้าที่ในการเชื่อมโยงแรงงานที่ผ่านการพัฒนาทักษะฝีมือดังกล่าว ให้มีโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนมากยิ่งขึ้นด้วย เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการว่างงาน ซึ่งเป็นเรื่องต้องรีบดำเนินการแก้ไขท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศ
         สำหรับรูปแบบการค้ำประกันสินเชื่อที่ บสย. ทำหน้าที่ค้ำประกันให้กับ SMEs เป็นกลไกที่สามารถขยายผลการให้สินเชื่อได้มากกว่างบประมาณที่รัฐใช้ไปหลายเท่า ซึ่งนอกจากจะมีโครงการ  Soft Loan พลัสแล้ว  ยังมีโครงการค้ำประกันที่สำคัญ ได้แก่ บสย.ไทยชนะ ที่ถือว่าเป็นมาตรการสำคัญที่ บสย. ดำเนินการค้ำประกันด้วยตนเอง เพื่อเพิ่มความช่วยเหลือไปครอบคลุมฐานผู้ประกอบการต่างๆ  สามารถตอบโจทย์การแก้ปัญหาเศรษฐกิจในขณะนี้ได้เป็นอย่างดี  นอกจากการช่วยเหลือให้ SMEs ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนแล้ว ยังได้จัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาทางการเงินกับ SMEs ซึ่งเป็นการให้ความรู้ ช่วยแก้ไขปัญหาทางการเงินโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ ทำให้ SMEs  ผู้ประกอบการอาชีพอิสระ คนตกงาน ได้มีโอกาสรับการค้ำประกันและได้รับสินเชื่อในที่สุด
—————————
TOP