Skip to main content

“May Day…ความหวังของแรงงานจาก Manpower สู่ Brainpower” เสวนาวิชาการก่อนวันแรงงาน ‘๖๐

รายละเอียดเนื้อหา

            กระทรวงแรงงาน จัดเสวนาทางวิชาการด้านแรงงาน ในหัวข้อ “May Day… ความหวังของแรงงานจาก Manpower สู่ Brainpower” โดยวิทยากรผู้แทนจากภาครัฐ ผู้ประกอบการ ลูกจ้าง และนักวิชาการ แลกเปลี่ยนมุมมองถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นและผลกระทบด้านแรงงาน ตลอดจนทิศทางการพัฒนาแรงงาน ซึ่งเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีค่ายิ่งของประเทศไทยใน ๒๐ ปีข้างหน้า




Preview

Download Images

            วันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๖๐ เวลา ๑๓.๓๐ น. ณ ห้องประชุมจอมพล ป.พิบูลสงคราม อาคารกระทรวงแรงงาน พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิดเสวนาทางวิชาการด้านแรงงาน “May Day… ความหวังของแรงงานจาก Manpower สู่ Brainpower”กล่าวภายหลังว่า กระทรวงแรงงานร่วมกับภาคเอกชนได้จัดงานเสวนานี้ขึ้น โดยรัฐบาลและกระทรวงแรงงานได้เล็งเห็นถึงวันสำคัญของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน คือวันที่ ๑ พฤษภาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันแรงงานแห่งชาติ (May Day) เพราะแรงงานถือเป็นกลไกหลักสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยกระทรวงแรงงานได้มุ่งมั่นสร้างความมั่นคงให้แก่แรงงาน ทั้งด้านสิทธิประโยชน์ประกันสังคม และการคุ้มครองแรงงาน เป็นต้น เพื่อให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม โดยการเสวนาในครั้งนี้เป็นการเตรียมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระยะ ๒๐ ปี ตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี ของรัฐบาล ภายใต้วิสัยทัศน์ “ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ทุกภาคส่วนต้องมีการปรับตัวให้สอดคล้องและมีการบริหารจัดการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ก้าวไปสู่ประเทศไทย ๔.๐ โดยการฝึกอบรมและพัฒนาแรงงานให้มีความรู้ ความเข้มแข็ง และทักษะฝีมือดีขึ้น พร้อมที่จะเปลี่ยนจากเศรษฐกิจแบบเดิม ไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากประเทศที่ติดกับดักรายได้ปานกลาง ไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงทัดเทียมระดับสากล
            โดยการเสวนาครั้งนี้มีนายสุรวัฒน์ ชมภูพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการศึกษา มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา สำหรับวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิร่วมเสวนา ได้แก่ รองศาสตราจารย์แล ดิลกวิทยรัตน์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สะท้อนว่า ในสังคมไทยแม้ปัจจุบันคำว่า ๔.๐ มีการกล่าวถึงกันมาก แต่ความเป็นจริงความเข้าใจเรื่องนี้ สำหรับภาคแรงงานส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจอย่างแท้จริง ในขณะที่ภาครัฐต้องการนำ ๔.๐ เข้ามาแก้ปัญหากับดักรายได้ปานกลาง นายสุวิทยา จันทวงศ์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลได้กำหนดกรอบร่างยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี อาทิ ด้านความมั่นคง ด้านความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ การพัฒนาศักยภาพของคน การสร้างโอกาสและความเสมอภาคในสังคม และการบริหารจัดการหน่วยงานรัฐ ซึ่งทั้งหมดกระทรวงแรงงานได้มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องเกือบทั้งหมด พร้อมกับได้จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังคนของประเทศระยะ ๒๐ ปี (ปี ๒๕๖๐ – ๒๕๗๙) เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนากำลังคนของประเทศ ผู้แทนภาคเอกชน ดร.ณรงค์ โชควัฒนา นักธุรกิจอิสระ กล่าวว่า การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจน ควรต้องได้รับการสนับสนุนที่ดีจากภาครัฐ เช่นในอนาคตประเทศไทยต้องสามารถสร้างเครื่องจักรได้ ไม่เป็นเพียงผู้ซื้อเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีแต่หนี้สินเพราะต้องคอยซื้อของจากชาติอื่นอยู่ตลอด ด้านนายชัยพร จันทนา ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานอิสระแห่งประเทศไทย เสนอมุมมองว่า ที่ผ่านมารัฐปล่อยให้ลูกจ้างต่อรองกับทุนข้ามชาติเพียงอย่างเดียว และไม่เคยส่งเสริมเรื่องการพัฒนา แต่กลับมีการใช้ทรัพยากรมนุษย์อย่างฟุ่มเฟือย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง ฉะนั้นการไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 อยากร้องขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือกลุ่มภาคแรงงานทั้งระบบ ตั้งแต่เรื่องการศึกษา ภาษา เพราะทุกวันนี้ในสังคมอยู่แบบเอารัดเอาเปรียบกัน เพราะทุกฝ่ายคิดแต่เพียงทำเพื่อหวังผลกำไรเท่านั้น ฉะนั้นการแก้ปัญหาเรื่องการพัฒนาคน รัฐบาล นายจ้าง ลูกจ้างต้องช่วยกัน ไม่เช่นนั้นประเทศไทยจะไม่สามารถสู้กับชาติอื่นได้
            ผู้เข้าร่วมเสวนา ครั้งนี้ประกอบด้วย ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ องค์การนายจ้าง องค์การลูกจ้าง สื่อมวลชน ผู้บริหารและ เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน และผู้ที่เกี่ยวข้อง จำนวนประมาณ ๒๐๐ คน

 


——————————————
กลุ่มงานโฆษกและการข่าว/กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์/ปัญจิดา อยู่ผาสุข – ข่าว/สมภพ ศีลบุตร – ภาพ/
๒๗ เมษายน ๒๕๖๐

TOP