Skip to main content

ก.แรงงาน จับมือ มธ. ปั้นแรงงานท่องเที่ยว 100,000 คน ฝึกทักษะด้านท่องเที่ยวและภาษา รับปีทองการท่องเที่ยว

รายละเอียดเนื้อหา

          วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 13.30 น. นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานพิธีเปิดและแถลงข่าวโครงการพัฒนาทักษะฝีมือบุคลากรเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ โดยมี นายสมาสภ์ ปัทมะสุคนธ์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน นายสันติ นันตสุวรรณ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทน รองปลัดกระทรวงแรงงาน นางสาวกรจิรัฏฐ์ พงจันทร์ศธร ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน ผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสถานศึกษาต่าง ๆ ร่วมเป็นเกียรติ นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวรายงาน ณ ห้องประชุมกระทรวงแรงงาน ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน
 
          นายอารี กล่าวว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ได้ประกาศให้ “ปี 2568 เป็นปีทองแห่งการท่องเที่ยว” ยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของภูมิภาค เน้นการส่งเสริม Soft Power ชูจุดเด่นของไทย เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในภูมิภาค จึงต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจทุกด้าน ทุกมิติ เพื่อให้การท่องเที่ยวของไทยมี GDP เพิ่มมากขึ้น การพัฒนาศักยภาพของบุคลากรและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้มีมูลค่าสูงและมีขีดความสามารถในการแข่งขัน จึงเป็นภารกิจสำคัญที่กระทรวงแรงงานต้องเร่งดำเนินการในการพัฒนาทักษะแรงงาน เพื่อเป็นการ Upskill และ Reskill ให้แก่แรงงานในภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว จึงได้มอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งมีภารกิจในการพัฒนาทักษะแรงงาน ดำเนินการจัดทำโครงการพัฒนาทักษะฝีมือบุคลากรเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ เพื่อพัฒนาทักษะแรงงานด้านนี้ทั้งสิ้นจำนวน   100,000 คน  กระจายไป 62 จังหวัด
 
          ด้าน นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า สำหรับโครงการนี้ ทางกรมฯ ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดโครงการดังกล่าวขึ้น โดยมีกลุ่มเป้าหมายแรงงาน 3 กลุ่ม ได้แก่ แรงงานที่ทำงานในธุรกิจที่เกี่ยวกับภาคการท่องเที่ยวและบริการ เช่น กลุ่มพนักงานในโรงแรม ร้านอาหาร กลุ่มนักศึกษาระดับ ปวช. ปวส. ปริญญาตรี และกลุ่มแรงงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวและบริการ เช่น แม่ค้าออนไลน์ ฟรีแลนซ์ แบ่งเป็น 3 หลักสูตรได้แก่ การฝึกอบรมท่องเที่ยวและบริการหลักสูตร 18 ชั่วโมง จำนวน 3,000 รุ่น ๆ ละ 20 คน รวม 60,000 คน โดยการฝึกอบรมแบบ Online จำนวน 2 วัน แบบ Onsite จำนวน 1 วัน และการฝึกอบรมท่องเที่ยวและบริการหลักสูตร 30 ชม. จำนวน 500 รุ่น ๆ ละ 20 คน รวม 10,000 คน โดยการฝึกอบรมแบบ Online 3 วัน แบบ Onsite จำนวน 2 วัน ซึ่งผู้เข้าอบรม ต้องเข้าอบรม Online ผ่านโปรแกรม Zoom Meeting เมื่อเข้าอบรมครบตามวันที่กำหนดแต่ละหลักสูตร จะสามารถเข้าเรียน Onsite ตามสถานที่ที่กำหนดไว้ในแต่ละจังหวัด นอกจากนี้ยังมีการฝึกอบรมหลักสูตรภาษาอังกฤษ ในรูปแบบ e-learning ระยะเวลา 30 ชั่วโมง จำนวน 30,000 คน ซึ่งผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมในหลักสูตรนี้ จะได้รับใบประกาศ CEFR จากสถาบันภาษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อแสดงระดับความสามารถทางภาษาอังกฤษของผู้เข้าอบรมตามกรอบมาตรฐานสากล (Common European Framework of Reference for Languages – CEFR) ซึ่งสามารถเป็นสิ่งการันตีทางด้านภาษาได้อีกด้วย
 
————————————————
 
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
10 กุมภาพันธ์ 2568
TOP