Skip to main content

การเข้าร่วมประชุม 2020 EPS Conference in Tongyeong

รายละเอียดเนื้อหา

           สถาบันพัฒนาทรัพยกรมนุษย์แห่งสาธารณรัฐเกาหลี (Human Resources Development Service of Korea : HRD, Korea) ได้เรียนเชิญ เอกอัครราชทูต และนักการทูต ของ 16 ประเทศที่มีการลงนาม MOU กับสาธารณรัฐเกาหลีว่าด้วยการจัดส่งแรงงานภายใต้ระบบ EPS (Employment Permit System) เข้าร่วมการประชุม 2020 EPS Conference in Tongyeong เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2563 ณ ห้องประชุม KAI (Korea Aerospace Industries) ในจังหวัดคยองซังใต้ โดยมีนายคิม ดง มัน ประธาน HRDK เป็นประธานการประชุม ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย เอกอัครราชทูตหรือผู้แทน ผู้ช่วยทูตฝ่ายแรงงาน และเจ้าหน้าที่จาก 16 ประเทศ ได้แก่ ประเทศกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมียนมา ติมอร์ตะวันออก เวียดนาม บังคลาเทศ คีร์กีซสถาน ฟิลิปปินส์ เนปาล มองโกเลีย ไทย ศรีลังกา ปากีสถาน อินโดนีเซีย อุซเบกิสถาน และจีน

สาระสำคัญจากการประชุม สรุปได้ดังนี้
          1. นายคิม ดง มัน ประธาน HRDK ได้กล่าวแสดงความยินดีที่ได้มีโอกาสเรียนเชิญ เอกอัครราชทูตและนักการทูตของประเทศผู้ส่งแรงงาน มาร่วมประชุม ณ จังหวัดคยองซังใต้ ซึ่งเป็นจังหวัดที่ขึ้นชื่อด้านอุตสาหกรรมล้ำสมัย ทั้งนี้ รัฐบาลเกาหลีนำระบบ EPS มาใช้ตั้งแต่ปี 2547 โดยที่ HRDK รับผิดชอบดำเนินการเกี่ยวกับแรงงานต่างชาติทั้งหมด ตั้งแต่การคัดเลือก นำเข้า สนับสนุนการพำนัก และส่งเสริมให้เดินทางกลับตามกำหนด และตั้งแต่ปี 2559 HRDK ได้จัดประชุม EPS Conference เป็นประจำทุกปี และในโอกาสเดียวกันในวันนี้ ได้มีการลงนาม MOU ระหว่างจังหวัดคยองซังใต้ HRDK และ KAI เพื่อสนับสนุนให้แรงงานต่างชาติปรับตัวเข้ากับการทำงานในเกาหลี และสร้างขวัญกำลังใจให้แรงงานต่างชาติ โดยจัดกิจกรรมศึกษาวัฒนธรรม และเยี่ยมชมกิจกรรมอุตสาหกรรมชั้นนำ เป็นต้น ตลอดจน HRDK หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการประชุมครั้งนี้ จะเป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อพัฒนาระบบ EPS ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
         2. มาตรการใหม่ที่เกี่ยวกับระบบ EPS
             2.1 แรงงานต่างชาติที่เดินทางออกจากเกาหลีชั่วคราว เมื่อจะเดินทางกลับเข้าเกาหลีต้องยื่นคำร้องขอใบรับรองจาก EPS Center โดยประสานงานกับนายจ้างเรื่องสถานที่กักตัวเป็นหลัก หรือใช้สถานที่กักตัวขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Local Government) หรือหากไม่เพียงพอ จะใช้ศูนย์อบรมของ KBIZ ในเมืองอันซอง หากแรงงานต่างชาติไม่ยื่นใบรับรองนี้หรือไม่ยินยอมการกักตัวเอง 14 วัน อาจถูกปฏิเสธการเดินทางเข้าเกาหลีได้
            2.2 กรณีแรงงานใช้สถานที่กักตัวขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่มีเงินไม่พอจ่ายค่าใช้สถานที่กักตัววันละ 100,000 วอน HRDK จะให้แรงงานกู้ยืมเงินในวงเงินของประกันเฉพาะสำหรับแรงงานต่างชาติสูงสุด 1,400,000 วอน โดยไม่คิดดอกเบี้ย ได้จำนวน 570 คน
            2.3 MOEL มีนโยบายช่วยเหลือแรงงานต่างชาติ ดังนี้ 1) แรงงานที่เดินทางออกจากเกาหลีในช่วงเวลารอนายจ้างใหม่ แต่ไม่สามารถเดินทางกลับเข้าเกาหลีได้ MOEL จะเพิ่มระยะเวลาหางานให้แรงงานต่างชาติตามระยะเวลาที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ 2) แรงงานที่ได้รับการต่อสัญญาจ้างอีก 1 ปี 10 เดือน และเดินทางออกจากเกาหลีชั่วคราว แต่ไม่สามารถเดินทางเข้าเกาหลีได้ ซึ่งมีผลให้วีซ่าทำงานหมดไปในช่วงเวลาที่อยู่ในต่างประเทศ MOEL จะขอความร่วมมือกับกระทรวงยุติธรรม ในการออกวีซ่าทำงานให้กับแรงงานเหล่านี้ เพื่อให้สามารถทำงานได้ตามปกติ 3) แรงงานที่เดินทางออกจากเกาหลีก่อนวันที่ 6 พฤษภาคม 2563 และวีซ่าหมดในช่วงเวลาอยู่ในต่างประเทศ MOEL จะให้โอกาสพิเศษโดยหลังจากสอบ TOPIK ผ่านแล้ว จะได้รับการยกเว้นทดสอบฝีมือและรับการอบรมก่อนเดินทางเข้า โดยจะมีผลบังคับใช้ถึงปี 2564
            2.4 เนื่องจากมีอุปสรรคในการจัดส่งแรงงานแรกเข้า ทำให้หนังสือรับรองการอนุมัติวีซ่า (CCVI) ที่มีระยะเวลา 3 เดือน หมดอายุลง โดยตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป ได้ขยายเวลาของ CCVI ให้มีอายุ 6 เดือน สำหรับ CCVI ที่ออกให้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 7 มิถุนายน 2563 ก็จะทยอยเพิ่มระยะเวลาให้ด้วย
      3. เอกอัครราชทูตและผู้แทนของประเทศผู้ส่งแรงงาน ได้เสนอข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะประเทศละ 5 นาที ดังนี้
          3.1 ประเทศกัมพูชา แจ้งที่ประชุมว่า เนื่องจากมีเหตุการณ์ Covid-19 มีแรงงานประสบปัญหาเพิ่มมากขึ้น เช่น การถูกเลิกจ้าง การสั่งให้หยุดโดยไม่มีค่าจ้าง และไม่มีที่พักที่จะรองรับแรงงานที่รอเที่ยวบินกลับประเทศ นอกจากนี้ ยังมีแรงงานที่ต้องเสียโอกาสการทำงานในเกาหลี เนื่องจากสถานที่กักตัวไม่เพียงพอ ไม่สามารถเดินทางเข้าเกาหลีอีกครั้ง หลังจากที่เดินทางกลับประเทศชั่วคราว
         3.2 ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้จัดส่งแรงงานตั้งแต่ต้นเดือนปี 2561 ถึงปัจจุบัน มีแรงงานเดินทางเข้าทำงาน 320 คน แต่นายจ้างเกาหลียังไม่นิยมจ้างแรงงานลาว ทำให้แรงงานที่ยื่นขอย้ายงานหานายจ้างรายใหม่ไม่ทันภายใน 90 วัน ต้องเดินทางกลับประเทศ ขอให้ HRDK ประชาสัมพันธ์ให้นายจ้างเกาหลีจ้างแรงงานลาวเพิ่มมากขึ้น
         3.3 ประเทศเมียนมา ได้กล่าวว่า ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 มีแรงงานที่ได้รับ CCVI จำนวน 1,390 คน แต่ไม่สามารถจัดส่งแรงงานเข้าประเทศเกาหลีได้เนื่องจาก Covid-19 และมีแรงงาน 160 คน พบอุปสรรคในการเดินทางเข้าเกาหลี เนื่องจากไม่สามารถหาสถานที่กักตัวได้ ขอให้ HRDK พิจารณาช่วยเหลือแรงงานเหล่านี้ และเพิ่มล่ามที่พูดภาษาเมียนมาได้ให้ทำงานในศูนย์ช่วยเหลือแรงงานต่างชาติ แต่ละเขต รวมทั้งขอให้รัฐบาลเกาหลีแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้แรงงานภาคเกษตรได้รับความคุ้มครองเทียบเท่าแรงงานอุตสาหกรรมทั่วไป และขอให้เปิดเผยสถิติข้อมูลแรงงานผิดกฎหมายด้วย
         3.4 ประเทศติมอร์ตะวันออก กล่าวว่า เนื่องจากเหตุการณ์ Covid-19 แรงงานจำนวนมากไม่สามารถเดินทางกลับประเทศได้ และคนที่ถูกคุมขังในสถานที่กักตัวไม่สามารถจัดส่งตัวกลับประเทศได้ ขอให้ HRDK พิจารณาออกมาตรการให้เพิ่มระยะเวลาอาศัยในเกาหลี เพื่อป้องกันไม่ให้แรงงานต่างชาติกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย
         3.5 ประเทศเวียดนาม ขอให้ HRDK พิจารณายกเลิกข้อระเบียบที่แรงงานต้องกักตัว 14 วันในเมืองที่สถานประกอบการตั้งอยู่ หรือเมืองที่แรงงานลงทะเบียนรอนายจ้างรายใหม่ และมีปัญหาในการจัดหาสถานที่กักตัวได้ยากและค่าใช้จ่ายสูง ขอให้ HRDK ออกมาตรการให้นายจ้างช่วยจ่ายค่าใช้สถานที่กักตัวส่วนหนึ่ง และให้แรงงานสามารถทำงานในเกาหลีชั่วคราวในช่วงเวลารอเที่ยวบินกลับประเทศ
         3.6 ประเทศบังคลาเทศ กล่าวว่า รายได้ที่แรงงานบังคลาเทศส่งกลับจากเกาหลีเป็นรายได้หลักๆ ของประเทศ แต่ช่วงนี้ มีแรงงานบังคลาเทศจำนวนมากไม่สามารถเดินทางเข้าทำงานในเกาหลีได้ รัฐบาลถือว่าเป็นปัญหาเฉพาะหน้าและท้าทายที่รัฐบาลต้องหามาตรการแก้ไข จึงขอให้รัฐบาลเกาหลีผ่อนปรนการใช้มาตรการการกักตัว 14 วันสำหรับแรงงานที่มีวีซ่า E-9
         3.7 ประเทศคีร์กีซสถาน ได้เสนอการอบรมแรงงานด้านวัฒนธรรม หรือความปลอดภัยในการทำงานทางออนไลน์ในช่วงเวลากักตัวด้วยตนเอง 14 วัน ขอให้มีโอกาสการจัดกิจกรรมนัดพบกับนายจ้าง เพื่อประชาสัมพันธ์แรงงานคีร์กีซสถาน และขอให้จัดส่งแรงงาน E-9 เพิ่มในสาขาอุตสาหกรรมทันสมัย
         3.8 ประเทศฟิลิปปินส์ ขอให้ HRDK จัดเตรียมสถานที่กักตัว โดยเช่าโรงแรมในราคาไม่แพง และนายจ้างสนับสนุนค่าใช้จ่ายสถานที่กักตัวร้อยละ 50 รวมทั้งจัดสอบ CBT (Computer based Test) ในเกาหลี เพื่อให้แรงงานสามารถทำงานต่อเนื่องโดยไม่ต้องเดินทางกลับประเทศ เพิ่มอายุสมัครสอบ EPS จากเดิม 39 ปีบริบูรณ์ เป็น 45 ปี และขอความสนับสนุนในการจัดส่งศพกลับประเทศ ไม่ว่าเสียชีวิตด้วย สาเหตุใดก็ตาม
         3.9 ประเทศเนปาล กล่าวว่าช่วงนี้ เริ่มพบปัญหาแรงงานฆ่าตัวตายมากขึ้น ควรจะมีการอบรมและให้คำปรึกษาทางจิต ขอให้รัฐบาลเกาหลีควบคุมดูแลด้านความปลอดภัยในการทำงานอย่างเข้มงวดมากขึ้น
        3.10 ประเทศมองโกเลีย ขอให้แรงงานทำงานต่อเนื่องในเกาหลี จนกระทั่งแรงงานสามารถเดินทางกลับประเทศได้
        3.11 ประเทศไทย เสนอว่า ในกรณีนายจ้างสั่งให้หยุดงานหรือขอเลิกจ้าง แรงงานต้องได้รับความคุ้มครองเท่าเทียมกับแรงงานเกาหลี ขอให้รัฐบาลเกาหลีช่วยจัดหาสถานที่กักตัวให้แรงงานผู้ที่เดินทางออกจากเกาหลีชั่วคราว ในกรณีนายจ้างไม่อนุญาตให้แรงงานเดินทางเข้าเกาหลีหลังพักร้อนนานกว่า
1 เดือน ควรจะให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยค่าจ้างในช่วงที่ไม่ได้ทำงานด้วย และขอให้ตรวจสอบนายจ้างที่จ่ายค่าจ้างไม่ตรงเวลา ค้างจ่ายค่าจ้างเกินกว่า 2 เดือน และไม่อนุญาตให้ย้ายงาน เพื่อให้แรงงานได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย เนื่องจากแรงงานมีภาระค่าใช้จ่ายส่งให้ครอบครัว
       3.12 ประเทศศรีลังกา ขอให้ HRDK จัดเตรียมระเบียบใหม่ในการกักตัว 14 วัน
       3.13 ประเทศปากีสถาน กล่าวว่า เนื่องจากถูกระงับการจัดส่งแรงงานแรกเข้า ทำให้แรงงานที่อยู่ในประเทศปากีสถานไม่สามารถเดินทางเข้ามาทำงานในเกาหลีได้ มีผลให้แรงงานจำนวนมาก
ตกงานค้างอยู่ในประเทศ จะแนะนำให้แรงงานเดินทางเข้าทำงานในเกาหลีอีกครั้ง โดยพิจารณาระยะเวลาสัญญาจ้างที่เหลืออยู่
       3.14 ประเทศอินโดนีเซีย นำเสนอว่า กรณีที่แรงงานถือใบรับรองการตรวจโรค Covid-19 ควรได้รับการยกเว้นการกักตัว 14 วัน และขอให้ HRDK ประสานกับนายจ้างเรื่องการร่วมจ่ายค่าใช้จ่ายในการกักตัว
       3.15 ประเทศอุซเบกีสถาน กล่าวขอบคุณ HRDK ที่ให้ความช่วยเหลือแรงงาน 31 คนให้เดินทางเข้าทำงานในเกาหลีได้อีกครั้ง แต่ยังมีอีก 100 กว่าคนไม่สามารถเดินทางกลับเกาหลีหลังพักร้อนได้ ขอให้ HRDK ประสานกับนายจ้าง เพื่อให้ความช่วยเหลือแรงงานที่มีปัญหาสถานที่กักตัวด้วย
       3.16 ประเทศจีน กล่าวว่า มีอุปสรรคในการเดินทางเข้าเกาหลี ขอให้รัฐบาลเกาหลีให้ความร่วมมือในการควบคุมป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์แพร่ระบาดยิ่งใหญ่อีกครั้ง
    4.HRDK ได้สรุปประเด็นการประชุมโดยกล่าวว่า ความเห็นและข้อเสนอที่ได้มาจากผู้แทนประเทศผู้จัดส่งแรงงานนั้นจะแจ้งให้ MOEL และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบด้วย ส่วนประเด็นที่หลายๆ ประเทศได้แจ้งปัญหาเรื่องสถานที่กักตัวนั้น ไม่ว่าเป็นคนต่างชาติหรือคนเกาหลีก็ตาม หลังจากเดินทางเข้าจากต่างประเทศ ต้องกักตัว 14 วัน ตามนโยบายของรัฐบาล โดยกำหนดให้เจ้าตัวมีหน้าที่ที่ต้องหาสถานที่กักตัวด้วยตนเอง HRDK จึงไม่สามารถออกระเบียบที่จะให้นายจ้างจัดหาสถานที่กักตัวให้แรงงานต่างชาติได้ หากนายจ้างไม่สะดวกจัดเตรียมสถานที่กักตัวได้ แนะนำให้ใช้สถานที่กักตัวขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก่อน หากไม่เพียงพอ ขอแนะนำให้ใช้สถานที่กักตัวที่ HRDK ได้จัดเตรียมไว้ นอกจากนี้ HRDK ยังไม่มีแผนที่จะจัดส่งแรงงานแรกเข้า จนกว่าจะมีการยกเลิกการใช้มาตรการกักตัว 14 วันของรัฐบาลเกาหลี รวมทั้ง HRDK จะเพิ่มขีดความสามารถ เพื่อให้แรงงานต่างชาติได้รับความคุ้มครองอย่างเต็มที่ และจะหารือกับสหภาพแรงงานเพื่อรักษาสิทธิมนุษยชนของแรงงานต่างชาติด้วย

 

TOP