Skip to main content

“ปลัดแรงงาน”ย้ำไทยดูแลแรงงานต่างด้าวตามหลักสากล

รายละเอียดเนื้อหา

          (23 ม.ค. 60) หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงมาตรการดูแลและบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ทั้งการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานผิดกฎหมายตามหลักมาตรฐานสากล การจัดโซนนิ่งที่อยู่อาศัยสำหรับแรงงานต่างด้าวทั้ง 13 จังหวัดนำร่อง และการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับแรงงานต่างด้าวว่า ตั้งแต่รัฐบาลปัจจุบันเข้ามาบริหารประเทศได้มีนโยบายชันเจนว่าจะต้องไม่มีแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายในประเทศไทย โดยจะยึดหลัก 5P ประกอบด้วย นโยบาย (Policy) การคุ้มครอง (Protection)การบังคับใช้กฎหมาย (Prosecution) การป้องกัน (Prevention) และการมีส่วนร่วม (Partnership) และมีนโยบายชัดเจนในการดูแลแรงงานต่างด้าว รวมถึงการคุ้มครองในกรณีต่างๆ ทั้งการดูแลเรื่องการให้สิทธิประโยชน์ การติดตามการดำเนินคดี การกำหนดบทลงโทษ รวมทั้งมีกระบวนในการป้องกันการกระทำความผิดหรือใช้แรงงานผิดกฎหมาย

          “การจัดโซนนิ่งหรือการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวใน 13 จังหวัดนำร่อง อาทิ จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรปราการ ปทุมธานี สุราษฎร์ธานี ระยอง ภูเก็ต เป็นต้น โดยจะคำนึงถึงปัจจัย 3 ด้าน คือ ด้านสังคม เศรษฐกิจ และความมั่นคงของแรงงานต่างด้าว ตลอดจนความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านรวมทั้งการนำเข้าแรงงานต่างด้าว จากประเทศเมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างผู้ส่งแรงงานและผู้รับแรงงาน” ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว
          ปลัดกระทรวงแรงงาน ยังกล่าวอีกว่า อัตราค่าจ้างขั้นต่ำของแรงงานต่างด้าว กระทรวงแรงงาน โดยคณะกรรมการค่าจ้างได้ออกประกาศให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 โดยมีอัตราที่ปรับขึ้นตั้งแต่ 5 บาท, 8 บาท และ 10 บาท ใน 59 จังหวัด ซึ่งการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นการขึ้นเพื่อผ่อนคลายให้ผู้ใช้แรงงาน และไม่ให้มีผลกระทบต่อราคาสินค้า โดยค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานต่างด้าวและค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานไทยจะได้เท่ากัน เป็นไปตามหลักมาตรฐานสากล
…………………………………………………………………………
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์/ปรางค์แก้ว อัยราคม ข่าว -ภาพ/23 มกราคม 2560
 
TOP