Skip to main content

กองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงาน

กองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงาน

ความเป็นมา

          เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2538 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการโครงการจัดตั้งกองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงาน ในลักษณะของเงินทุนหมุนเวียนตามพระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. 2491 ตามที่กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมเสนอ เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนให้ผู้ใช้แรงงานกู้ยืม โดยผ่านสหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบกิจการและรัฐวิสาหกิจ เพื่อช่วยให้ผู้ใช้แรงงานสามารถปลดเปลื้องหนี้สินจากการกู้ยืมเงินนอกระบบ ตลอดจนช่วยให้ผู้ใช้แรงงานและครอบครัวมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

วัตถุประสงค์

1. เพื่อเป็นแหล่งทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำในการให้บริการเงินกู้แก่แรงงาน
2. เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการพัฒนารายได้และเพื่อการออมทรัพย์ และปลดเปลื้องหนี้สินของแรงงาน

การบริหารงานกองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงาน

 กองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงานบริหารงานโดยคณะกรรมการบริหารงานกองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงาน ตามข้อบังคับคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงาน ว่าด้วยการบริหารกองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงาน พ.ศ. 2560 ประกอบด้วยอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เป็นประธาน ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนสำนักงบประมาณ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐศาสตร์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสหกรณ์ เป็นกรรมการ และผู้บริหารทุนหมุนเวียนเป็นกรรมการและเลขานุการ

หน้าที่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงาน

1. กำหนดนโยบาย กำกับดูแลการบริหารจัดการ และติดตามการดำเนินงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ
2. กำหนดข้อบังคับว่าด้วยการเงิน การบัญชี และการพัสดุ รวมทั้งแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องภายใต้มาตรฐานที่คณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนกำหนด
3. กำหนดข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคล ตลอดจนการกำหนดค่าตอบแทน สิทธิประโยชน์หรือสวัสดิการต่างๆ ของผู้บริหารทุนหมุนเวียน พนักงาน และลูกจ้าง ให้สอดคล้องกับมาตรฐานที่คณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนกำหนด
4. กำหนดข้อบังคับว่าด้วยการติดตามหนี้สิน และการบังคับคดี
5. พิจารณาจัดสรรเงิน และอนุมัติเงินให้กู้ยืม
6. พิจารณาอนุมัติแผนการดำเนินงานประจำปี
7. แต่งตั้งผู้บริหารทุนหมุนเวียน
8. ปฏิบัติการอื่นตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ

ผู้มีสิทธิกู้กองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงาน

 สหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบกิจการและรัฐวิสาหกิจ ที่ประสงค์จะขอกู้เงินกองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงานจะต้องมีระยะเวลาการดำเนินการมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งรอบปีบัญชี และกรณีสหกรณ์ออมทรัพย์รายเดิมยื่นคำขอกู้ใหม่เพิ่มเติม ต้องชำระคืนมาแล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของวงเงินกู้ทุกสัญญารวมกัน 

วงเงินให้กู้

 สหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบกิจการและรัฐวิสาหกิจสามารถกู้เงินจากกองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงาน ได้ไม่เกิน 1.5 เท่าของทุนเรือนหุ้นรวมกับเงินทุนสำรอง และเมื่อหักหนี้อื่นที่สหกรณ์มีอยู่แล้วต้องไม่เกินวงเงินกู้ยืมประจำปีที่นายทะเบียนเห็นชอบ และกู้ได้สูงสุดไม่เกิน 20 ล้านบาท ทั้งนี้เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงาน

การชำระเงินกู้และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้

ปัจจุบันกองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงานคิดดอกเบี้ยเงินกู้กองทุนเพื่อใช้แรงงานจากสหกรณ์ออมทรัพย์ผู้กู้ตามประกาศของคณะกรรมการกองทุนเพื่อใช้แรงงาน เรื่อง กำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้กองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงาน(ฉบับที่ 8) ดังนี้
เงินกู้ระยะสั้น : อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2.75 ต่อปี กำหนดส่งชำระคืนไม่เกิน 1 ปี
เงินกู้ระยะยาว : อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.00 ต่อปี กำหนดส่งชำระคืน 1 - 5 ปี  

การค้ำประกัน

 สหกรณ์ผู้กู้ต้องให้คณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์ทั้งคณะ รวมทั้งผู้จัดการหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการสหกรณ์ (ถ้ามี) เป็นผู้ค้ำประกันในฐานะส่วนตัว ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์ใหม่แทนคณะเดิม ต้องจัดให้คณะกรรมการชุดใหม่ค้ำประกันเพิ่มเติม

สถานที่ยื่นคำขอกู้

สหกรณ์ออมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร ยื่นคำขอกู้พร้อมเอกสารได้ที่กองสวัสดิการแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
สหกรณ์ออมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดอื่น ยื่นคำขอกู้พร้อมเอกสารได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดที่สหกรณ์ออมทรัพย์ตั้งอยู่

สนใจติดต่อสอบถาม

กองสวัสดิการแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ถนนมิตรไมตรี แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ 10400 
โทรศัพท์/โทรสาร : 0 2246 0383 , 0 2248 6684
เว็บไซต์ : labourfund.labour.go.th
e - mail : labourfund@gmail.com
Facebook :  facebook.com/labourfund

8525
TOP