Skip to main content

ก.แรงงาน วางกรอบจัดหลักเกณฑ์การพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี ๒๕๖๑

รายละเอียดเนื้อหา

            กระทรวงแรงงาน สัมมนากรอบแนวทางและหลักเกณฑ์การพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี ๒๕๖๑ และการกำหนดอัตราค่าจ้างที่เหมาะสมในสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต นำผลสรุปไปสู่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงค่าจ้างขั้นต่ำในแต่ละพื้นที่ ทั้งค่าจ้างลอยตัวตามกลไกตลาด ค่าจ้างขั้นต่ำตามกลุ่มจังหวัด/อุตสาหกรรม/แบบผสมผสาน



Preview

Download Images


            นายสิงหเดช ชูอำนาจ รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดการสัมมนากรอบแนวทางและหลักเกณฑ์การพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี ๒๕๖๑ และการกำหนดอัตราค่าจ้างที่เหมาะสมในสถานการณ์ปัจจุบันและในอนาคต ณ โรงแรมเซ็นจูรี่พาร์ค กรุงเทพฯ โดยกล่าวว่า การสัมมนาในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นแนวปฏิบัติสำหรับคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด คณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะต้องจัดประชุมพิจารณาเสนอแนะอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัดต่อคณะกรรมการค่าจ้างภายในวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๖๐ แต่การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน นายจ้างและลูกจ้าง ต้องร่วมกันปรับยุทธศาสตร์ในการดำเนินธุรกิจให้เข้ากับสถานการณ์ และให้ความสำคัญกับผลิตภาพแรงงานมากขึ้น เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ในอนาคตนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศจะมองหาแรงงานที่มีคุณภาพ จากการปรับโครงสร้างการผลิตไปสู่การผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูงขึ้น ซึ่งในระยะยาวภาคธุรกิจไทยต้องสามารถแข่งขันได้ทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศ ดังนั้นฝ่ายลูกจ้างต้องมองถึงการพัฒนาทักษะฝีมือเป็นการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ซึ่งจะกำหนดค่าจ้างและรายได้ตามความสามารถที่แตกต่างกัน แรงงานที่มีผลิตภาพสูงย่อมมีโอกาสได้ค่าจ้างและรายได้สูงกว่าแรงงานที่มีผลิตภาพต่ำ


            ต่อไปเรื่องของค่าจ้างขั้นต่ำจะเป็นเรื่องของนายจ้างและลูกจ้างตกลงกันเอง การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไม่จำเป็นต้องเท่ากันทุกจังหวัด เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีโครงสร้างกำลังแรงงานและดัชนีผู้บริโภคไม่เท่ากัน อีกทั้งยังมีมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติที่จะทำให้ลูกจ้างมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องยึดกับค่าจ้างขั้นต่ำ โดยผลสรุปที่ได้เกี่ยวกับแนวโน้มค่าจ้างขั้นต่ำในปี ๒๕๖๑ จะมีการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงหรือไม่อย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่พิจารณาตามหลักเกณฑ์ นายสิงหเดชฯ กล่าวท้ายที่สุด


            การจัดสัมมนามีวัตถุประสงค์เพื่อซักซ้อมและเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในแนวทางการพิจารณาเสนอแนะอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัดให้กับคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดและฝ่ายเลขานุการ ตลอดจนสภาพเศรษฐกิจ สังคม แรงงาน สภาพการจ้างงานในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต รวมถึงกรอบแนวทางและหลักเกณฑ์การพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี ๒๕๖๑ เพื่อให้การพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด ปี ๒๕๖๑ ของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดได้อย่างมีหลักวิชาการและมีมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ตลอดจนรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการกำหนดค่าจ้างรูปแบบต่างๆ ทั้งค่าจ้างลอยตัวตามกลไกตลาด ค่าจ้างขั้นต่ำตามกลุ่มจังหวัด/อุตสาหกรรม/แบบผสมผสาน ว่าค่าจ้างรูปแบบใดจะเหมาะกับประเทศในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยมีผู้เข้าร่วมการสัมมนาทั้งสิ้น ๓๗๕ คน


——————————————


กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์

๒๘ สิงหาคม ๒๕๖๐

กัณติภณ คูสมิทธิ์ ข่าว

สมภพ ศีลบุตร ภาพ

 

TOP