นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายเสข วรรณเมธี เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ และเจ้าหน้าที่ ได้เข้าพบ นาย Guy Ryder ผู้อำนวยการใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) และ นางสาว Tomoko Nishimoto ผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2561 ณ สำนักงานใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส
นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน ได้กล่าวถึงเจตนารมณ์อันมุ่งมั่นของรัฐบาลไทย ในการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว ให้ได้รับการเคารพและได้รับการคุ้มครองตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยได้กล่าวขอบคุณองค์การแรงงานระหว่างประเทศที่ให้ความร่วมมือและการสนับสนุนด้านโครงการต่างๆ อาทิ โครงการ Ship to Shore Rights ซึ่งให้การสนับสนุนทางด้านวิชาการเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะและทักษะสำหรับบุคลากรและพนักงานตรวจแรงงานในภาคประมง ซึ่งรัฐบาลโดยกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้มุ่งเน้นการดำเนินงานในลักษณะประชารัฐ ที่มุ่งเน้นการบูรณาการร่วมมือกันในการดำเนินการ โดยการดำเนินการภายใต้โครงการดังกล่าว ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ได้สร้างแนวทางสำหรับการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การขึ้นทะเบียนประวัติและการจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคลของแรงงานในภาคประมงทะเลและแปรรูปสัตว์น้ำ การกำหนดแผนการตรวจสภาพการจ้างงาน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นการแสดงถึงความมุ่งมั่นและความจริงใจของประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาด้านแรงงานอย่างเป็นระบบ ยั่งยืน เพื่อคุ้มครองแรงงานต่างด้าวตามหลักสิทธิมนุษยชน
นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงแรงงาน ยังได้กล่าวถึงความคืบหน้าในการดำเนินงานเพื่อรองรับการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 188 ว่าด้วยแรงงานในภาคประมง และพิธีสารส่วนเสริมอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 29 ว่าด้วยแรงงานบังคับ โดยได้กล่าวถึงความคืบหน้าของ ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการใช้แรงงานบังคับ พ.ศ. …. และ ร่าง พ.ร.บ.แรงงานประมง พ.ศ. …. ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ก่อนจะเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป
นาย Guy Ryder ได้กล่าวชื่นชมในเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหาด้านแรงงาน โดยเฉพาะปัญหาแรงงานต่างด้าว ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน และมีความท้าทายไม่ใช่เพียงเฉพาะแต่สำหรับประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นความท้าทายของประชาคมโลกเช่นกัน นาย Guy Ryder ยังได้กล่าวถึงความเป็นไปได้ของการจัดทำ Decent Work Country Programme กับประเทศไทย เพื่อใช้เป็นแนวทางสำหรับการให้ความช่วยเหลือเชิงวิชาการที่เหมาะสมตามความต้องการและบริบททั้งทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย นอกจากนี้ ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นผู้ประสานงานหลักของภูมิภาคอาเซียน ทาง ILO มีความยินดีที่จะขยายความร่วมมือกับประเทศไทยรวมถึงประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน โดยการสนับสนุนจากประเทศไทยต่อการดำเนินงานในภูมิภาคของ ILO ย่อมจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย และในโอกาสที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศจะครบรอบ 100 ปี ประเทศไทยในฐานะสมาชิกร่วมก่อตั้งควรใช้โอกาสแห่งการเฉลิมฉลองนี้ในการยกระดับความร่วมมือกับ ILO โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นของ “อนาคตแห่งการทำงาน” (Future of Work)
ในตอนท้าย นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน ได้กล่าวเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของประเทศไทยในการดำเนินการด้านแรงงานเพื่อสร้างหลักประกันว่า แรงงานไทยและแรงงานต่างด้าว จะได้รับการคุ้มครองและดูแลตามหลักสิทธิมนุษยชน เพื่อประโยชน์ต่อประเทศไทย และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน
——————————
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
20 มีนาคม 2561