Skip to main content

“โฆษกแรงงาน” นำผู้แทนยูเออีดูงานศูนย์ฯ OSS ย้ำ รัฐบาลไทยคุ้มครองต่างด้าวถูกกฎหมาย

รายละเอียดเนื้อหา

          “รองปลัดแรงงาน” นำคณะผู้แทน UAE ลงพื้นที่ศึกษาดูงานด้านการป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ในรูปแบบการบังคับใช้แรงงานของศูนย์ฯ OSS ไอทีสแควร์หลักสี่ 1 ใน 77 แห่งทั่วประเทศ ที่เปิดให้นายจ้างนำแรงงานต่างด้าวเข้าทำทะเบียนประวัติตรวจสุขภาพ ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน ตรวจลงตราวีซ่า และออกใบอนุญาตทำงาน นำแรงงานต่างด้าวเข้าสู่ระบบการจ้างงานที่ถูกกฎหมาย ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายไทยและสากล เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์




Preview

Download Images

          นางเพชรรัตน์ สินอวย รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับและบรรยายสรุปแก่ H.E. Dr. Saeed Mohamed Alghufli Assistant Undersecretary Ministry of State for Federal National Council Affairs และคณะผู้แทนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในโอกาสศึกษาดูงานด้านการป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ในรูปแบบการบังคับใช้แรงงาน ณ ศูนย์การค้าไอทีสแควร์หลักสี่พลาซ่า โดยศูนย์ฯ OSS แห่งนี้จะเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ. – 31 มี.ค.61 ซึ่งรัฐบาลไทยและกระทรวงแรงงาน มีนโยบายให้แรงงานต่างด้าวทุกคนได้ทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายโดยกำหนดให้แรงงานได้เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติกับประเทศต้นทาง รวมทั้งมาขึ้นทะเบียนกับศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ (OSS) ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อจัดเก็บข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล ก่อนออกบัตรประจำตัวและใบอนุญาตทำงาน
           สำหรับศูนย์ฯ OSS มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมบูรณาการดำเนินการให้แก่นายจ้างและแรงงานต่างด้าว ได้แก่ กรมการปกครอง/กรุงเทพมหานครทำหน้าที่ในการจัดทำหรือปรับปรุงทะเบียนประวัติ กำหนดเลข 13 หลัก ถ่ายรูปใบหน้า สแกนลายนิ้วมือ กระทรวงสาธารณสุขทำหน้าที่ตรวจสุขภาพ ประกันสุขภาพ ให้แก่แรงงานต่างด้าวที่ยังไม่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ หรือผ่านการพิสูจน์สัญชาติกรณีทำงานในกิจการประมง แปรรูปสัตว์น้ำ และรับใช้ในบ้านไม่เข้าประกันสังคม หรือกรณีเข้าประกันสังคมต้องซื้อประกันคุ้มครองก่อนเกิดสิทธิประกันสังคม สำนักงานประกันสังคมทำหน้าที่ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนให้กับแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในกิจการของนายจ้างที่ต้องเข้าระบบประกันสังคม สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ทำหน้าที่ตรวจลงตรา (Visa) อนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร ประเภทคนอยู่ชั่วคราว และกรมการจัดหางานออกใบอนุญาตให้ทำงาน ในส่วนของกรุงเทพมหานครมีแรงงานต่างด้าวที่ต้องเดินทางมาขึ้นทะเบียนที่ศูนย์ OSS รวม 360,189 คน แยกเป็นสัญชาติเมียนมา 195,549 คน กัมพูชา 121,803 คน และลาว 42,837 คน
         “ศูนย์ฯ OSS จะทำให้แรงงานต่างด้าวที่อยู่ในประเทศไทยผิดกฎหมาย เข้าสู่ระบบที่ถูกต้องตามกฎหมาย มีการจัดเก็บข้อมูลเป็นฐานข้อมูลที่มีเอกภาพ ซึ่งจะสามารถทราบจำนวนแรงงานต่างด้าวว่าประกอบอาชีพอะไร อยู่ที่ไหน ทำงานกับใคร ส่งผลให้การบริหารจัดการแรงานต่างด้าวในประเทศไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมาตรฐานสากลในที่สุด”นางเพชรรัตน์ฯ กล่าว


——————————————

กลุ่มงานโฆษกและการข่าว/
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์/
ชนินทร เพ็ชรทับ – ข่าว/
ชาญชัย ชาวหนองเพียร – ภาพ/
6 กุมภาพันธ์ 2561

TOP