Skip to main content

ก.แรงงาน มอบรางวัลสถานประกอบกิจการดีเด่น ร่วมพัฒนาแรงงานสู่ไทยแลนด์ 4.0

รายละเอียดเนื้อหา

             กระทรวงแรงงานมอบรางวัลสถานประกอบกิจการดีเด่นด้านการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๙ เพื่อเชิดชูเกียรติสถานประกอบกิจการที่ส่งเสริมพัฒนาฝีมือแรงงาน และร่วมสร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจและสังคม

            หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานมอบรางวัลโครงการสถานประกอบกิจการดีเด่นด้านการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๙ เพื่อประกาศเกียรติคุณแก่สถานประกอบกิจการที่ประสบความสำเร็จด้านการส่งเสริมพัฒนาฝีมือแรงงาน ณ ห้องบอลรูม ๒ โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร วันนี้ ( ๑ ก.ย. ๖๐) โดยกล่าวว่า พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๕ และที่แก้ไขเพิ่มเติม เป็นกฎหมายที่ส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการมีส่วนร่วมในการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อให้ลูกจ้างของตนและบุคคลที่จะรับเข้าทำงานมีทักษะฝีมือสูงขึ้น สอดคล้องกับตลาดแรงงาน และนโยบายของกระทรวงแรงงานด้านการเพิ่มผลิตภาพแรงงานสู่ไทยแลนด์ 4.0 ของพลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยพ.ร.บ.ดังกล่าวมีมาตรการจูงใจในการยกเว้นภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม และสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ จึงมีสถานประกอบกิจการจากทั่วประเทศจำนวนมากให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี และเพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณแก่สถานประกอบกิจการที่ประสบความสำเร็จในด้านการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน กพร. จึงได้ดำเนินการจัดทำ “โครงการสถานประกอบกิจการดีเด่นด้านการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานประจำ พ.ศ.๒๕๕๙” ขึ้น ในการคัดเลือกสถานประกอบกิจการที่มีคุณสมบัติที่พ.ร.บ.ส่งเสริมฯ กำหนด




Preview

Download Images

 

            นายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับคุณสมบัติประกอบด้วย ๕ ด้าน ดังนี้ ด้านที่ ๑ สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ ๑๐๐ คนขึ้นไป ที่ดำเนินการฝึกอบรมให้กับพนักงานของตนเองครบถ้วนตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมฯ เป็นระยะเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า ๕ ปี (พ.ศ. ๒๕๕๕ – ๒๕๕๙) โดยพิจารณาจากหลักสูตรการฝึกเพื่อความก้าวหน้าในสายอาชีพของพนักงาน สร้างขวัญและกำลังใจให้กับพนักงาน ด้านที่ ๒ สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างต่ำกว่า ๑๐๐ คน และมีการพัฒนาฝีมือให้กับพนักงานของตนเองตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมฯ เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า ๒ ปี (พ.ศ. ๒๕๕๘ – ๒๕๕๙) ซึ่งสถานประกอบกิจการที่มีพนักงานไม่ถึง ๑๐๐ คนนั้น ไม่อยู่ในข่ายบังคับตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมฯ แต่ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาพนักงาน ด้านที่ ๓ สถานประกอบกิจการที่รับนักเรียน นิสิต นักศึกษา จากสถานศึกษา หรือบุคคลที่ทางราชการส่งมาฝึก เข้ารับการฝึกเตรียมเข้าทำงานตามหลักสูตรที่ขอรับรอง โดยจ่ายเบี้ยเลี้ยงและสวัสดิการ ด้านที่ ๔ สถานประกอบกิจการที่จัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานของตนเอง ไม่น้อยกว่า ๑ สาขาในรอบปีที่ผ่านมา และต้องนำมาตรฐานฯ ไปจัดทำหลักสูตรการฝึกอบรม พร้อมนำหลักสูตรไปใช้ในการฝึกอบรมแก่พนักงานของตนเองด้วย ด้านสุดท้าย สถานประกอบกิจการที่มีการดำเนินการที่แสดงให้เห็นถึงการขับเคลื่อนในการรองรับนโยบาย Thailand 4.0 หรือมีผลงานโดดเด่นที่ได้รับรางวัลจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในด้านการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในระดับประเทศหรือนานาชาติ 

            “มีสถานประกอบกิจการได้รับการคัดเลือกดีเด่น จำนวน ๕๙ แห่ง แบ่งเป็นเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ๑๔ แห่ง และในภูมิภาค ๔๕ แห่ง จะได้รับโล่และใบเกียรติบัตรแสดงถึงการมีส่วนร่วมในการพัฒนากำลังแรงงานของประเทศ ให้มีทั้งทักษะและทัศนคติที่ดีต่อการทำงาน ซึ่งจะส่งผลในภาพรวมของประเทศในด้านเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันและเพิ่มความมั่นคงด้านเศรษฐกิจด้วย ปัจจุบันสถานประกอบกิจการได้พัฒนาแรงงานแล้วกว่า ๓,๖๘๑,๐๓๗ คน ค่าใช้จ่ายที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ ๑,๘๔๑,๔๑๙,๘๔๐.๖๖ บาท และในปีต่อๆ ไปหวังเป็นอย่างยิ่งจะมีสถานประกอบกิจการดีเด่นเพิ่มขึ้นทุกปี” นายธีรพลฯ กล่าวในท้ายที่สุด

 

+++++++++++++++++++++++

 

 

 

กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ /

ดาวนภา เนาวรังษี – ภาพและข่าว /

กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน – ข้อมูล /

 

๑ กันยายน ๒๕๖๐

TOP