Skip to main content

ก.แรงงาน ย้ำ ก้าวหน้าคุ้มครองสิทธิแรงงานเด็ก ต่างด้าว ชนกลุ่มน้อย

รายละเอียดเนื้อหา

          นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ ผู้ตรวจราชการกระทรวง ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานมีความก้าวหน้าไปอย่างมากในการคุ้มครองสิทธิแรงงานเด็ก แรงงานต่างด้าว และแรงงานคนพื้นที่สูง ด้วยกลไกของกฎหมายที่ได้มีการปรับแก้ไขให้ทันสมัยยิ่งขึ้น ตลอดจนการบังคับใช้อย่างเข้มงวดจริงจัง ได้แก่ กรณีการคุ้มครองแรงงานเด็กได้มีอัตราโทษใหม่ของกฎหมายคุ้มครองแรงงานเกี่ยวกับการใช้แรงงานเด็กมีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา คือ หากมีการจ้างเด็กผิดกฎหมาย ได้แก่การจ้างเด็กอายุต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดเข้าทำงาน (เด็กอายุต่ำกว่า ๑๕ ปี ในงานทั่วไป งานเกษตรกรรม และเด็กอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี ในงานบรรทุกหรือขนถ่ายสินค้าเรือเดินทะเล,งานประมงทะเล) การจ้างเด็กทำงานอันตราย และการจ้างเด็กทำงานในสถานที่ที่กฎหมายห้ามทำ จะมีโทษปรับสูงขึ้นตั้งแต่ ๔๐๐,๐๐๐ – ๘๐๐,๐๐๐ บาท ต่อลูกจ้างเด็กที่ผิดกฎหมาย ๑ ราย จำคุกไม่เกิน ๒ ปี หรือทั้งปรับทั้งจำ ขณะเดียวกันหากเด็กได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจหรือถึงแก่ความตาย โทษปรับสูงขึ้นตั้งแต่ ๘๐๐,๐๐๐ – ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท ต่อลูกจ้างเด็กที่ผิดกฎหมาย ๑ ราย หรือจำคุกไม่เกิน ๔ ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งเมื่อ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ ได้พบการกระทำความผิดของนายจ้าง ที่ จังหวัดกาญจนบุรีใช้เด็กต่างด้าวอายุต่ำกว่า ๑๕ ปี ๓ คน ทำงาน ได้ส่งดำเนินคดีตามอัตราโทษใหม่ปรับขั้นต่ำ ๔ แสนบาทต่อลูกจ้างหนึ่งราย เป็นเงินกว่าล้านบาท  

          ส่วนแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในประเทศไทย จะได้รับสิทธิการคุ้มครองตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน รวมถึงการรับค่าจ้างตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ สิทธิในการรับบริการดูแลรักษาสุขภาพอนามัย เช่นเดียวกับแรงงานไทย ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากล นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานยังได้ออกพระราชกำหนดการนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ.2559  ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2559 ให้เป็นกลไกหนึ่งในการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว  กฎหมายฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อควบคุมการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศอย่างเหมาะสม และป้องกันไม่ให้มีการลักลอบนำลูกจ้างซึ่งเป็นคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศไทยโดยผิดกฎหมาย รวมทั้งเสริมสร้างการให้ความคุ้มครองผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้ได้รับความเป็นธรรมตามแนวทาง กฎเกณฑ์ และมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับในนานาประเทศ  จัดเป็นมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เพื่อขจัดการบังคับใช้แรงงานหรือการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากแรงงานต่างด้าว
          โฆษกกระทรวงกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับชนกลุ่มน้อยและคนต่างด้าวที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานาน  สามารถขออนุญาตทำงานได้ทุกประเภทงานแล้วและได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมการอนุญาตทำงาน โดยอนุญาตให้การทำงานในกิจการก่อสร้าง ขนส่งสินค้า และกิจการที่มีลักษณะเดียวกัน สามารถทำงานได้ตามความจำเป็นของกิจการ โดยนายทะเบียนจะอนุญาตทำงานทั้งจังหวัดตามความจำเป็น หรืออนุญาตทำงานในหลายจังหวัดต่อเนื่องกัน เช่น กรณีกิจการขนส่งสินค้าในจังหวัดที่มีระยะทางไกล และต้องผ่านจังหวัดอื่น ๆ ระหว่างเดินทาง เป็นการเพิ่มสิทธิการเข้าถึงงานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่คนกลุ่มนี้อย่างเท่าเทียม
          “พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับแรงงานทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งการมีคุณภาพชีวิตที่ดี การได้รับความคุ้มครองสิทธิ และการป้องกันการถูกแสวงหาประโยชน์ เพราะแรงงานทุกคนเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ภูมิภาคและของโลก” โฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวในท้ายที่สุด
 
+++++++++++++++++++
 
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
6 มีนาคม 2560
TOP