Skip to main content

ก.แรงงาน รุกอัพเกรดแรงงานสู่ 4.0 เพิ่มขีดแข่งขันไทย หวังไต่ระดับ GCI รอบถัดไป

รายละเอียดเนื้อหา

            ‘สุทธิ’ เผย ปีงบประมาณ 2561 ก.แรงงาน รุกอัพเกรดแรงงานสู่ 4.0 เน้นดำเนินงาน 10 ด้านสอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล รองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต EEC เขตเศรษฐกิจพิเศษ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ
           นายสุทธิ สุโกศล ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงผลการรายงานดัชนีขีดความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก (Global Competitiveness Index :GCI) ปี 2560 ซึ่งสำรวจโดย (World Economic Forum:WEF) จาก 137 ประเทศทั่วโลก พบว่า จากขีดความสามารถในการแข่งขันทั้ง 12 ด้าน ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 32 ด้วยคะแนน 4.7 ขยับขึ้นมา 2 อันดับจากเดิมปี 2559 อยู่อันดับที่ 34 มี 4.6 คะแนน สะท้อนให้เห็นว่าความสามารถในการแข่งขันของไทยได้รับการจัดอันดับที่ดีขึ้นในหลายด้าน โดยเฉพาะด้านประสิทธิภาพตลาดแรงงานอยู่ในอันดับ 65 ในปี 2560 ขยับขึ้นมาจากอันดับ 71 ในปี 2559 และด้านการศึกษาขั้นสูงและการฝึกอบรมอันดับอยู่ในอันดับ 57 ในปี 2560 ขยับขึ้นมาจากอันดับ 62 ในปี 2559
           นายสุทธิ กล่าวต่อว่า ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยกระเตื้องขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในหลายด้านนั้น สอดคล้องกับกรอบยุทธศาสตร์ชาติในระยะ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๐-๒๕๗๙) ตามนโยบายของรัฐบาล และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒ (พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๖๔) ในส่วนของกระทรวงแรงงาน ปีงบประมาณ ๒๕๖๑ ได้กำหนดแนวทางในการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ ระยะ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๗๙) และแผนแม่บทพัฒนาแรงงานไทยในระยะ ๕ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๖๔) โดยเน้นการดำเนินงาน 10 ด้าน คือ 1) เตรียมคนไทยทุกช่วงวัยไปสู่ศตวรรษที่ ๒๑ (Human Capital) 2) ยกระดับคุณภาพชีวิตกลุ่มแรงงานนอกระบบ 3) มุ่งเร่งพัฒนาแรงงานสู่ Thailand 4.0 4) ป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน 5) จัดการแรงงานต่างด้าวทั้งระบบ 6) เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการคุ้มครองแรงงาน 7) เพิ่มสิทธิประโยชน์และยกระดับการให้บริการประกันสังคม 8) ส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน 9) เสริมสร้างความร่วมมือด้านแรงงานกับต่างประเทศ และ 10) ปฏิรูปบทบาทกระทรวงแรงงาน
           นอกจากนี้ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยังได้กำชับให้ดำเนินการ 3 เรื่องสำคัญ คือ 1) ยุติความเหลื่อมล้ำ (End to Inequality) ในทุกมิติ 2) ยุติการจ้างงานในรูปแบบที่ไม่เป็นที่ยอมรับ (End to Unacceptable Forms of Employment) และ 3) ยุติความไม่มีประสิทธิภาพ (End to Inefficiency) เพื่อขันนอตให้ฟันเฟืองกระบวนการทำงานมีความสะดวก รวดเร็ว คล่องตัว และเกิดประโยชน์แก่ประชาชนมากที่สุด
          “พล.อ.ศิริชัย ได้มุ่งเน้นอัพเกรดแรงงานไทยให้มีผลิตภาพสูง มีทักษะที่หลากหลาย มีมาตรฐานฝีมือเป็นสากล ให้สามารถรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) รวมทั้งพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษอื่นๆ ตามทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอีกด้วย”นายสุทธิ กล่าว


————————————–


กลุ่มงานโฆษกและการข่าว/
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์/
ชนินทร เพ็ชรทับ – ข่าว/
28 กันยายน 2560

TOP