Skip to main content

ก.แรงงาน ลงพื้นที่แม่ฮ่องสอน ฝึกอบรมแปรรูปผลผลิตเกษตร ช่วยชาวบ้านมีงานทำ มีรายได้

รายละเอียดเนื้อหา

          วันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 นางบุปผา พันธุ์เพ็ง รองปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นางดรุณี นิธิทวีกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน และ นายธีรเดช ถิรพร ผู้อำนวยการกองจัดทำงบประมาณด้านเศรษฐกิจ 3 สำนักงบประมาณ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามผลการดำเนินงานโครงการยกระดับเพื่อเพิ่มศักยภาพฝีมือและสมรรถนะแรงงาน หลักสูตรอบรมการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรถั่วลายเสือและข้าวโพด บ้านป่าปุ๊ โดยมี นายทเนตร นาคแย้ม แรงงานจังหวัดแม่ฮ่องสอน หัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดแม่ฮ่องสอน พร้อมด้วยอาสาสมัครแรงงานอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ร่วมให้การต้อนรับ ณ ที่ทำการกลุ่มสตรีบ้านป่าปุ๊ ตำบลผาบ่อง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน

          นางบุปผา กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของท่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมทักษะฝีมือแรงงานให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มอาชีพต่าง ๆ ให้ได้รับความรู้ทักษะฝีมือ สร้างความเข้มแข็งและมั่นคงให้แก่เศรษฐกิจฐานรากในระดับชุมชนของประเทศสอดคล้องกับนโยบายของท่านสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ต้องการยกระดับศักยภาพและดูแลสิทธิแรงงานนอกระบบให้ได้รับการคุ้มครองเพื่อรองรับ พ.ร.บ. ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ และในวันนี้ดิฉันได้ลงพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อเยี่ยมให้กำลังใจและติดตามผลการดำเนินงานโครงการยกระดับเพื่อเพิ่มศักยภาพฝีมือและสมรรถนะแรงงาน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับงบประมาณโครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านอาชีพจากกระทรวงแรงงาน

         นางบุปผา กล่าวต่อว่า จากการพูดคุยกับแกนนำอาสาสมัครแรงงานอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน และประธานกลุ่มที่ได้นำเสนอผลสัมฤทธิ์ของการฝึกอบรมจากโครงการดังกล่าว ทำให้ทราบว่า กลุ่มนี้มีนางอรพิน รัตนกุล เป็นประธานกลุ่ม ปัจจุบันมีสมาชิก 15 คน เกิดการรวมกลุ่มเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน และสร้างผลิตภัณฑ์ที่จากการนำวัตถุดิบในท้องถิ่น และนำความรู้ที่ได้รับจากการฝึกอบรมไปประกอบอาชีพ สร้างรายได้หรือใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันของตนเอง ครอบครัว และสังคม เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลและลดค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตได้มีรายได้เพิ่มขึ้นหลังการฝึกอบรม นอกเหนือจากการทำงานประจำ เฉลี่ยเดือนละ 600 บาท สำหรับโครงการนี้ กระทรวงแรงงานเน้นพัฒนาทักษะองค์ความรู้ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม Up skill และ Re skill แรงงานให้สามารถทำงานที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีของภาคอุตสาหกรรม บริการและรองรับการเปลี่ยนแปลงอาชีพใหม่ ๆ

          “กระทรวงแรงงาน ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่เล็งเห็นถึงสำคัญในการสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับแรงงานจากโครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านอาชีพ กิจกรรมพัฒนาทักษะฝีมือ ซึ่งทำให้เกิดอาชีพใหม่ ๆ ให้กับประชาชน นอกเหนือจากการทำการเกษตร อีกทั้งยังสามารถมีอาชีพเสริม เป็นการดูแลแรงงานนอกระบบให้มีรายได้เพิ่ม มีคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นการพัฒนาต่อยอดวิสาหกิจชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งอีกด้วย” นางบุปผา กล่าวท้ายสุด

+++++++++++++++++++++

กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์

TOP