Skip to main content

ก.แรงงาน ไฟเขียว 90 ลบ. จ้างงานเร่งด่วน ออก กม.จ่ายเงินทดแทน เยียวยาลูกจ้างภายหลังน้ำลด

รายละเอียดเนื้อหา

           วันนี้ (16 ม.ค.60) นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน แถลงว่าที่ประชุมกระทรวงเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยของกระทรวงแรงงานในการฟื้นฟูภายหลังน้ำลด ซึ่ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ทุกหน่วยงานระดมสรรพกำลังในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยใน 12 จังหวัดภาคใต้ โดย พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ติดตามสถานการณ์และให้สำรวจข้อมูลสถานประกอบกิจการที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งพบว่า มีสถานประกอบกิจการในพื้นที่ 12 จังหวัด 42,330 แห่ง ลูกจ้าง 1,094,360 คน สถานประกอบการได้รับผลกระทบ 8,753 แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบ 127,018 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 15 ม.ค.60)


Preview

Download Images   
    นายอนันต์ชัย กล่าวต่อว่า มาตรการช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัยภายหลังน้ำลด ประกอบด้วย 1) บริการการซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ รถจักรยานยนต์ เครื่องมือทางการเกษตร โดยทีมช่าง จะให้บริการซ่อมฟรีที่สถาบัน/ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานแต่ละจังหวัด 2) การฝึกอบรมให้กับลูกจ้าง ประชาชนเพื่อให้สามารถนำความรู้ไปซ่อมแซมอุปกรณ์ไฟฟ้า และปรับปรุงสภาพแวดล้อมบ้านเรือนของตนเองได้ อาทิ การก่ออิฐ ฉาบปูน การปูกระเบื้อง โดยเป็นหลักสูตรระยะสั้น 3-5 วัน ผู้เข้ารับการอบรมจะได้รับเบี้ยเลี้ยงวันละ 100 บาท 3) การจ้างงานเร่งด่วน โดยมุ่งเน้นการฟื้นฟูบ้านเรือนหรือชุมชนในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมของชุมชนภายหลังน้ำลด ซึ่งดำเนินการตามความต้องการของชุมชน โดยมีค่าตอบแทนให้คนละ 150 บาท สำหรับการทำงาน 4 ชั่วโมง ทั้งนี้ได้จัดสรรงบประมาณไว้แล้วรวม 90 ล้านบาท
      มาตรการที่ 4) คณะกรรมการประกันสังคมมีมติเมื่อวันที่ 11 ม.ค. 60 ให้นายจ้างจ่ายสมทบ 3% และลูกจ้างจ่ายสมทบ 3 % จากเดิม 5 % เป็นเวลา 3 เดือน (ม.ค.-มี.ค.60) ส่วนลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ซึ่งออกจากงานไปแล้ว แต่ยังอยู่ในระบบประกันสังคมจะจัดเก็บเงินสมทบในอัตราเดือนละ 288 บาท นอกจากนี้ ยังขยายเวลาการจ่ายเงินสมทบโดยไม่เสียค่าปรับ ในกรณีที่ไม่สามารถนำส่งได้ทันกำหนด รวมทั้งการจ่ายเงินทดแทนการว่างงานให้กับผู้ประกันตน เตรียมออกกฎหระทรวง ให้สามารถจ่ายเงินทดแทนกรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัย จนต้องหยุดกิจการชั่วคราว จะจ่ายเงินให้ลูกจ้างในอัตราร้อยละ 50  ของค่าจ้าง ไม่เกิน 180 วัน โดยจ่ายให้ตามจริงกับวันที่สถานประกอบการหยุดงาน ขณะนี้ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงานได้ลงนามในกฎกระทรวงแล้ว อยู่ระหว่างการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ 5) การให้กู้เงินฟื้นฟู สถานประกอบการกู้เพื่อฟื้นฟูความปลอดภัยวงเงินไม่เกิน 2 ล้านบาท ดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี ผ่อนชำระไม่เกิน 5 ปี 6) ตรวจสอบความปลอดภัยในสถานประกอบการ เพื่อแนะนำให้ปรับปรุงแก้ไขถูกต้องและปลอดภัยก่อนเริ่มใช้งาน 7) มาตรการสำรวจผลกระทบ ความต้องการประกอบอาชีพ โดยมีรถโมบายยูนิตไปสำรวจในพื้นที่ประสบภัย เพื่อจัดอบรมฝึกอาชีพอิสระระยะสั้นให้มีรายได้เลี้ยงดูตนเองได้
         ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ ลูกจ้าง ประชาชนทั่วไป สามารถขอรับบริการความช่วยเหลือ โดยสามารถติดต่อหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน ได้ที่สำนักงานแรงงานจังหวัด สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด สถาบัน/ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด และสำนักงานประกันสังคมทุกจังหวัดทั่วประเทศ หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่สายด่วนกรมการจัดหางาน 1694 สายด่วนประกันสังคม 1506 และสายด่วนกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน 1546
—————————-
กลุ่มงานโฆษกและการข่าว/
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์/
ชนินทร เพ็ชรทับ – ข่าว/
สมภพ ศีลบุตร – ภาพ/
16 มกราคม 2560

 

 

TOP