Skip to main content

‘บิ๊กบี้’สั่งตรวจเข้ม…แรงงานประมงหายไปไหน

รายละเอียดเนื้อหา

        

         นายสุทธิ สุโกศล ผู้ตรวจราชการกระทรวง ในฐานะหัวหน้าส่วนปฏิบัติการ เปิดเผยถึงสถานการณ์แรงงานประมงในประเทศไทย ว่ากระทรวงแรงงานได้รวบรวมข้อมูลการใช้แรงงานจากศูนย์ port in port out ทั้ง 22 ศูนย์อย่างใกล้ชิด รวมถึงการติดตามข้อมูลตัวเลขแรงงานประมงที่มาทำ seaman book จากกรมเจ้าท่า และ seabookจากกรมประมงอย่างต่อเนื่อง เพื่อประเมินสถานการณ์การขาดแคลนแรงงาน โดยขณะนี้มีข้อมูลการจดทะเบียนแรงงานประมงไว้แล้ว จำนวน 114,665คนเป็นแรงงานไทย 47,587 คนเป็นแรงงานต่างด้าวทั้ง MOU และกลุ่มผ่อนผันถือบัตรสีชมพูรวม 67,078 คนเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนเรือประมงและขนาดของเรือแล้ว จะมีความต้องการใช้แรงงานราว115,761 คน จึงขาดแรงงานประมงอยู่ประมาณ 1,000 กว่าคนเท่านั้น โดยที่รัฐบาลก็ยังคงเปิดโอกาสให้แจ้งความประสงค์ขอนำเข้าแรงงานตามระบบ MOU มาทำงานในภาคประมงที่ขาดอยู่ได้ตลอดซึ่งเจ้าของเรือประมงที่ขาดแคลนแรงงานสามารถประสานขอคำแนะนำได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด
          ทั้งนี้ จากกรณีที่ผู้ประกอบการเรือประมงแจ้งปัญหาขาดแคลนแรงงานประมงกว่า 70,000 คน โดยมีข้อเสนอให้นำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทดแทนในรูปแบบ MOU รวมถึงให้เปิดจดทะเบียนแรงงานประมงรอบใหม่ เพื่อนำกลุ่มที่ยังลักลอบทำงานขึ้นมาอยู่ในระบบนั้น มีข้อสังเกตว่า แรงงานประมงที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วกว่า 114,000 คน ไปอยู่ที่ใด ซึ่งระหว่างนี้ยังได้เปิดให้ผู้ประกอบการนำแรงงานต่างด้าวในกิจการประมงและแปรรูปสัตว์น้ำที่ได้รับการผ่อนผันให้มารายงานตัว เพื่อออกใบอนุญาตทำงานให้อยู่ต่อไปอีก 2 ปีโดยกำหนดสิ้นสุดการรายงานตัวภายในวันที่ 31 มีนาคม 2560 นี้และพบว่า ขณะนี้มียอดมารายงานเพียง 30,000 คนซึ่งที่ผ่านมาเราได้เปิดให้จดทะเบียนใหม่มาแล้วหลายครั้ง ครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้าย ต่อไปจะนำเข้าแบบ MOU เท่านั้น
         นายสุทธิฯ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการจดทะเบียนแรงงานให้ถูกต้อง กระทรวงแรงงานยังได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามกฎหมาย และควรคำนึงถึงแรงจูงใจในการทำงานของลูกจ้างประมงด้วย โดยเฉพาะการคุ้มครองแรงงานและสภาพการจ้างให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลด้วยเช่นการกำหนดระยะเวลาในการพักอย่างเป็นรอบสม่ำเสมอไม่น้อยกว่า 10 ชั่วโมงในระยะเวลาการทำงาน 24 ชั่วโมง และไม่น้อยกว่า 77 ชั่วโมง ในระยะเวลาการทำงาน 7 วัน , การจัดอาหารและน้ำดื่มบนเรือประมง ที่สะอาดถูกสุขลักษณะในจำนวนที่เพียงพอ และเหมาะสมกับการทำงานและระยะเวลาการใช้ชีวิตบนเรือ , จัดทำสัญญาจ้างเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้พนักงานตรวจแรงงานตรวจสอบ และให้นายจ้างนำลูกจ้างไปรายงานตัวต่อพนักงานตรวจแรงงานปีละหนึ่งครั้ง นับแต่วันทำสัญญาจ้าง, เรื่องความปลอดภัยในการทำงาน ก็ต้องมีการตรวจร่างกายและการวินิจฉัยทางการแพทย์ เพื่อให้แน่ใจว่าลูกจ้างมีความพร้อมในการปฏิบัติงานบนเรือประมง ให้ความรู้เกี่ยวกับสภาพการทำงาน การใช้เครื่องมือ และอุปกรณ์ความปลอดภัยบนเรือก่อนการทำงานจัดให้มีเวชภัณฑ์และยาเพื่อใช้ปฐมพยาบาลเบื้องต้น และสิทธิในการขึ้นฝั่งเพื่อรับการรักษาพยาบาลอย่างทันกาลเมื่อมีอาการป่วยหรือได้รับบาดเจ็บสาหัส และมีหลักประกันทางสังคม ที่ต้องประกันได้ว่าลูกเรือทุกคนจะได้รับการคุ้มครองความปลอดภัยทางสังคมอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่เลือกปฏิบัติ การดำเนินการเหล่านี้ ผู้ประกอบการจะสามารถรักษาแรงงานประมงให้ทำงานได้ต่อเนื่อง ไม่ขาดแคลน ไม่หนีไปไหน
           “กระทรวงแรงงานพร้อมรับการประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับสมาคมประมงทุกสมาคมเพื่อรับทราบปัญหาและร่วมกันแก้ไข โดยที่ผ่านมาเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ก็ได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างกลุ่มสมาคมประมงและผู้บริหารของกระทรวงแรงงาน เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นอาทิ สำนักงานจัดหางานจังหวัดสมุทรสงครามได้ร่วมกับสมาคมประมง จัดโครงการนำร่องจัดหาและฝึกคนงานไทยเพื่อเป็นแรงงานประมง เป็นต้น
         นอกจากนี้ ยังมีแผนรองรับโดยจะนำเข้าแรงงานจากประเทศเวียดนาม รวมถึงเมียนมาลาวและกัมพูชา ตามระบบ MOU ซึ่งได้เจรจากันไว้เบื้องต้นแล้วเช่นกัน หากผู้ประกอบการดูแลแรงงานได้อย่างมีมาตรฐาน ปัญหาการขาดแรงงานประมง จะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน โดยในเรื่องนี้ พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้สั่งการให้ดำเนินการตามระบบที่วางไว้อย่างรอบคอบ รวมทั้งการสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย ” นายสุทธิฯ กล่าวในท้ายที่สุด


—————————————


กลุ่มงานโฆษกและการข่าว/
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ – ข่าว/
6 มีนาคม 2560

TOP