Skip to main content

สนร.ญี่ปุ่น เยี่ยมคารวะและหารือกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่น

รายละเอียดเนื้อหา

เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565 เวลา 10.30 น. (เวลาท้องถิ่นญี่ปุ่น ซึ่งเร็วกว่าประเทศไทย 2 ชั่วโมง) นางสาวสดุดี กิตติสุวรรณ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) สำนักงานแรงงานในประเทศญี่ปุ่น พร้อมด้วยนางสาวเกศสุดา มงคลชาติ ที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ได้เดินทางไปเยี่ยมคารวะและหารือกับ Mr. NAKAGAWA Tsutomu ตำแหน่ง รองผู้บัญชาการกิจการระหว่างประเทศ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่น (Associate Commissioner for International Affairs, Immigration Services Agency) และ Ms. KAWASHIRI Miki ตำแหน่ง รองผู้อำนวยการกองวางแผนนโยบาย (Deputy Director of Policy Planning Division) โดยนางสาวสดุดีฯ ได้กล่าวขอบคุณที่เปิดโอกาสให้เข้าเยี่ยมคารวะและหารือข้อราชการ รวมถึงใช้โอกาสนี้ในการแนะนำตัวอย่างเป็นทางการภายหลังเข้ารับตำแหน่งอัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) เมื่อเดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา อวยพรเนื่องในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ 2565 และนำเสนอภารกิจของสำนักงานแรงงานในประเทศญี่ปุ่น รวมถึงนโยบายของกระทรวงแรงงานในการขยายตลาดแรงงานไทยในต่างประเทศ

Mr. NAKAGAWA Tsutomu ได้กล่าวต้อนรับนางสาวสดุดีฯ และคณะ โดยแสดงความยินดีกับการรับตำแหน่งใหม่ของนางสาวสดุดีฯ และแจ้งว่าตนเองเคยเดินทางไปประจำการ ณ สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ทราบดีว่าคนไทยมีอัธยาศัยดี และความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและไทยมีความแน่นแฟ้นมายาวนาน มีนักธุรกิจชาวญี่ปุ่นหลายรายเดินทางไปลงทุนธุรกิจที่ประเทศไทย และชาวญี่ปุ่นหลายคนก็ได้เดินทางไปทำงานที่ประเทศไทยเช่นเดียวกัน ในทางกลับกัน ญี่ปุ่นก็ต้องการให้คนไทยได้มาทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน ซึ่งขณะนี้มีบางอุตสาหกรรมในประเทศญี่ปุ่นที่กำลังขาดแคลนแรงงาน รวมถึงทราบว่าประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ ซึ่งหากมีคนไทยในสาขาดังกล่าวหรือสาขาอื่น ๆ สนใจเดินทางมาทำงานในญี่ปุ่นด้วย สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่นก็ยินดีพิจารณาและให้การสนับสนุน สำหรับระบบแรงงานทักษะเฉพาะ ญี่ปุ่นดำเนินการในระบบนี้มา 3 ปีแล้ว แต่เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้มีจำนวนแรงงานต่างชาติที่มาทำงานในระบบนี้ยังมีจำนวนน้อยกว่าที่ตั้งเป้าไว้ อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการหารือเพื่อปรับปรุงระบบต่อไป เพื่อให้แรงงานต่างชาติที่เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศญี่ปุ่นด้วยความสบายใจและสามารถทำงานร่วมกับคนญี่ปุ่นได้ ซึ่งปัจจัยสำคัญคือ การเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมของญี่ปุ่น และแรงงานต้องมีทักษะฝีมือตรงตามความต้องการของนายจ้างญี่ปุ่น นอกจากนี้ Mr. NAKAGAWA Tsutomu ได้แสดงความกังวลใจว่าแรงงานไทยยังต้องการจะมาทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นหรือไม่ เนื่องจากทราบว่าประเทศไทยประสบกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานเช่นกัน รวมทั้งได้แสดงความห่วงใยในเรื่องการรับรู้ข่าวสารและข้อเท็จจริงสำหรับคนหางาน/แรงงานที่จะเดินทางมาทำงานในประเทศญี่ปุ่น โดยคนหางานต้องรับทราบข้อมูลการทำงานจริงในประเทศญี่ปุ่นทั้งข้อดีและข้อเสียประกอบการตัดสินใจก่อนการเดินทาง เพื่อขจัดปัญหาการหลอกลวงคนหางานของนายหน้า

ในเรื่องดังกล่าว นางสาวสดุดีฯ ยืนยันว่ามีแรงงานไทยหลายรายที่ยังคงต้องการมาทำงานในประเทศญี่ปุ่น และได้รับทราบจากการประชาสัมพันธ์ถึงเงื่อนไขว่าต้องผ่านการทดสอบภาษาหรือ/และทักษะการทำงาน ซึ่งทำให้ต้องรู้จักการพัฒนาตนเอง นอกจากนี้ ยังได้แสดงความเห็นด้วยเกี่ยวกับข้อมูล/ข้อเท็จจริงให้คนหางานก่อนเดินทางมาทำงานในประเทศญี่ปุ่น เพื่อลดปัญหาการหลอกลวง รวมทั้งเห็นว่ารัฐบาลญี่ปุ่นมีระบบที่ชัดเจนในการรับแรงงานต่างชาติ ทำให้ลดปัญหาการหลอกลวงและค้ามนุษย์ และลดปัญหาการคุ้มครองแรงงานภายหลังเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้ รัฐบาลไทยให้ความสำคัญและได้บรรจุประเด็นการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศของแรงงานไทยในแผนงานการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติด้วย นอกจากนี้ ในช่วงท้ายของการสนทนา นางสาวสดุดีฯ ได้ขอความร่วมมือกระทรวงยุติธรรมในการกระชับความร่วมมือกันอย่างแน่นแฟ้น โดยประสานงานอย่างใกล้ชิดระหว่างกระทรวงยุติธรรมญี่ปุ่นและสำนักงานแรงงานในประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้ สำนักงานแรงงานในประเทศญี่ปุ่นในฐานะผู้แทนของกระทรวงแรงงานยินดีที่จะประสานงาน ให้ข้อมูล และเสนอความคิดเห็นในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อความร่วมมือกับรัฐบาลญี่ปุ่นในการพัฒนางานด้านแรงงานของทั้ง 2 ประเทศร่วมกันต่อไป

TOP