Skip to main content

โฆษกแรงงาน  ร่วมคณะ กมธ.แรงงาน วุฒิสภา เยือนโรงเรียนผู้สูงอายุวัดหัวฝาย สร้างอาชีพ เสริมรายได้

รายละเอียดเนื้อหา

         เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2565 นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน(ฝ่ายการเมือง) ในฐานะอนุกรรมาธิการแรงงาน วุฒิสภา ร่วมคณะกรรมาธิการฯ เข้าเยี่ยมชมโรงเรียนผู้สูงอายุวัดหัวฝาย เพื่อดูการวางแผนกระบวนการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนให้แก่ผู้สูงอายุ โดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อมวัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ความเชื่อ ความศรัทธา และสภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในปัจจุบัน โดยมีท่านพระครูปิยวรรณพิพัฒน์ ดร. เป็นผู้ก่อตั้ง ตามแนวทางในการจัดการระหว่างเครือข่ายโรงเรียนผู้สูงอายุจังหวัดเชียงราย สอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ของชาติในการเตรียมความพร้อมด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพมนุษย์ สร้างโอกาส สร้างความเสมอภาคทางสังคมโดยมีท่านพระครูปิยวรรณพิพัฒน์ ดร. ประธานเครือข่ายโรงเรียนผู้สูงอายุ 17 จังหวัดภาคเหนือ และหัวหน้าส่วยราชการ ร่วมให้การต้อนรับ

          โฆษกกระทรวงแรงงาน(ฝ่ายการเมือง) กล่าวว่า ในวันนี้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานได้จัดกิจกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานผู้สูงอายุและแรงงานนอกระบบ ให้มีทักษะฝีมือแรงงาน เพื่อการสร้างงาน สร้างอาชีพ หลักสูตรเทคนิคการประดิษฐ์ดอกไม้แปรรูปจากกระดาษสาญี่ปุ่น โดยมีผู้เข้าร่วมเป็นผู้สูงอายุในชุมชนจำนวน 20 คน โดยสำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงรายเข้ามาต่อยอดโครงการส่งเสริมการรับงานไปทำที่บ้าน  นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการมอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้กับพระครูปิยวรรณพิพัฒน์ ดร. และสมาชิกดีเด่นที่เป็นเครือข่ายบวรบ้าน วัด โรงเรียน ที่สนับสนุนการขยายความคุ้มครอง ด้านประกันสังคมสู่แรงงานอิสระ อันเป็นการสร้างโอกาส และความเสมอภาคทางสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในทุกมิติ

         สำหรับโรงเรียนผู้สูงอายุแห่งนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตของผู้สูงอายุให้มีคุณค่า มีศักยภาพให้เป็นที่ยอมรับ มีสุขภาพที่ดีทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจสนับสนุนให้มีส่วนร่วมในการทำประโยชน์ให้สังคม และส่งเสริมภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นให้ดำรงสืบทอดไป ทั้งนี้ เครือข่ายโรงเรียนผู้สูงอายุจังหวัดเชียงราย ได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายด้านต่างๆ ในการจัดทำหลักสูตรการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ และแก้ไขปัญหาทางสังคมผู้อายุอย่างยั่งยืน สร้างรายได้ สร้างคุณค่าให้แก่ผู้สูงอายุ โดยแบ่งออกเป็น 6 มิติแห่งการเรียนรู้ ดังนี้ ด้านสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตที่ดี ด้านเศรษฐกิจและวิชาชีพ ด้านศาสนา ประเพณีและวัฒนธรรม ด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และจิตอาสา ด้านเทคโนโลยีและการสื่อสาร และด้านสวัสดิการ


———————————-

 

กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์

22 มกราคม 2565

TOP