Skip to main content

ไทย – IOM พัฒนาความร่วมมือ หนุนจ้างแรงงานถูก กม. คุ้มครองสิทธิมาตรฐานสากล

รายละเอียดเนื้อหา

           กระทรวงแรงงาน จับมือ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานประจำประเทศไทย (IOM) พัฒนาความร่วมมือ โครงการจัดส่งคนไทยไปทำงานอิสราเอล พัฒนาทักษะฝีมือแรงงานต่างด้าว และสร้างการรับรู้ความเข้าใจระเบียบกฎหมายแรงงานของไทยแก่นายจ้างลูกจ้าง หนุนการจ้างแรงงานถูก กม. คุ้มครองสิทธิตามมาตรฐานสากล




Preview

Download Images


           นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับ นางเดน่า เกรเบอร์ ลาเด็ก (Ms.Dana Graber Ladek) หัวหน้าสำนักงานองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน ประจำประเทศไทย ในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะเพื่อแนะนำตัวและแนะนำเจ้าหน้าที่โครงการความร่วมมือระหว่างกระทรวงแรงงานและ IOM ณ ห้องประชุม Executive Operation Room ชั้น ๕ อาคารกระทรวงแรงงาน โดยได้กล่าวขอบคุณ IOM ที่ทำงานร่วมกับกระทรวงแรงงานมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งปัญหาการค้ามนุษย์ การใช้แรงงานบังคับ และแรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญ ปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวเข้ามาอยู่ในประเทศไทยประมาณ 3.5 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานที่เข้าเมืองถูกกฎหมาย 1.5 ล้านคน และอีก 2 ล้านคนเป็นแรงงานที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย ทำให้มีกรณีการใช้แรงงานบังคับ การค้ามนุษย์ด้านแรงงาน รวมทั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชนกับแรงงานต่างด้าว
          ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อว่า รัฐบาลไทยมีนโยบายให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้หมดสิ้นไป โดยกำหนดให้ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2561 จะจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวให้เข้าเมืองถูกกฎหมายทั้งหมด และจัดทำฐานข้อมูลแรงงานต่างด้าวเพื่อให้เป็นฐานเดียวกันให้ส่วนราชการต่างๆ สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ ประกอบด้วยข้อมูล การพิสูจน์อัตลักษณ์ตัวบุคคล ทำทะเบียนประวัติ เพื่อให้รู้ชื่อ สัญชาติ ทำงานอะไรอยู่ที่ไหน กับใคร ซึ่งจะทำให้แรงงานต่างด้าวได้เข้าสู่การคุ้มครอง ทั้งค่าจ้างที่พึงจะได้รับ วันหยุด สภาพแวดล้อมในการทำงาน และได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายของไทย
           การหารือในครั้งนี้ IOM ได้ขอบคุณกระทรวงแรงงาน ในการดำเนินโครงการความร่วมมือไทยอิสราเอล ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายสำหรับแรงงานไทยในการเดินทางไปทำงานภาคเกษตรที่ประเทศอิสราเอล นอกจากนี้ ยังได้ขอรับการสนับสนุนจากกระทรวงแรงงานในการดำเนินโครงการส่งเสริมการย้ายถิ่นที่ปลอดภัย การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน และสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจ้างงานระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างเกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบของกระทรวงแรงงาน และรัฐบาลไทยในประเทศ (PROMISE) โครงการป้องกันและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันแก่กลุ่มโยกย้ายถิ่นที่เปราะบาง (MAPP) และต่อต้านการค้ามนุษย์ ซึ่งจะเป็นความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นในอนาคตอันใกล้อีกด้วย


—————————————-

กลุ่มงานโฆษกและการข่าว/
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์/
ชนินทร เพ็ชรทับ – ข่าว/
สมภพ ศีลบุตร – ภาพ/
22 พฤศจิกายน 2560

TOP