Skip to main content

ก.แรงงาน ขอเชิญร่วมแสดงความเห็น ร่าง พ.ร.ก.ป้องกันและขจัดการใช้แรงงานบังคับหรือแรงงานเกณฑ์ พ.ศ. ….

รายละเอียดเนื้อหา

            กระทรวงแรงงาน เปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อประกอบการจัดทำร่างพระราชบัญญัติป้องกันและขจัดการใช้แรงงานบังคับหรือแรงงานเกณฑ์ พ.ศ. …. จากประชาชนทั่วไปและผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาวิเคราะห์ผล   กระทบ และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตามกฎหมาย ภายใต้บทบัญญัติมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ระหว่างวันที่ 26 มกราคม – 9 กุมภาพันธ์ 2561 ผ่านเว็บไซต์กระทรวงแรงงาน https://sites.google.com/view/ccpl-mol


            นางเพชรรัตน์ สินอวย รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน เปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อประกอบการจัดทำร่างพระราชบัญญัติป้องกันและขจัดการใช้แรงงานบังคับหรือแรงงานเกณฑ์ พ.ศ. …. จากประชาชนทั่วไปและผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวอย่างรอบด้าน และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตามกฎหมาย ภายใต้บทบัญญัติมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 โดยสามารถเสนอข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ และตอบแบบสอบถามความคิดเห็น ระหว่างวันที่ 26 มกราคม – 9 กุมภาพันธ์ 2561 ผ่านช่องทางเว็บไซต์กระทรวงแรงงาน โดยเข้าสู่แบบสอบถามออนไลน์ https://sites.google.com/view/ccpl-mol


            โดยข้อมูลประกอบการรับฟังความคิดเห็นประกอบด้วย 1. สภาพปัญหาและสาเหตุของปัญหา ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีบทบัญญัติตามกฎหมายถึงการกำหนดลักษณะความผิดเกี่ยวกับการกระทำอันเป็นความผิดฐานใช้แรงงานเกณฑ์หรือแรงงานบังคับที่ไม่เข้าข่ายค้ามนุษย์ไว้อย่างชัดเจน ทำให้ไม่สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเกณฑ์หรือแรงงานบังคับได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งไม่มีกลไกในการคุ้มครอง ช่วยเหลือ เยียวยา ผู้เสียหายที่ตกเป็นแรงงานเกณฑ์หรือแรงงานบังคับ ซึ่งสภาพปัญหาดังกล่าวทำให้แรงงานไม่ได้รับความคุ้มครอง  ช่วยเหลือ เยียวยา ตามมาตรฐานสากล และทำให้ประเทศไทยถูกกล่าวหาอยู่เนือง ๆ ว่ามีการใช้แรงงานเกณฑ์หรือแรงงานบังคับในเวทีนานาชาติ ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยไปต่างประเทศ 2. ความจำเป็นที่ต้องตรากฎหมาย เพื่อให้มีกฎหมายที่มีการลักษณะการกระทำอันเป็นความผิดฐานใช้แรงงานเกณฑ์หรือแรงงานบังคับ สำหรับเป็นเครื่องมือในการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิด และมีกลไกในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเกณฑ์หรือแรงงานบังคับ ตลอดจนมาตรการในการคุ้มครอง ช่วยเหลือ และเยียวยา ผู้เสียหายจากการใช้แรงงานเกณฑ์หรือแรงงานบังคับให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน และสิทธิทางสังคม อันจะเป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านแรงงาน เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ และ  3. หลักการอันเป็นสาระสำคัญของกฎหมายที่จะตราขึ้น ร่างพระราชบัญญัติการป้องกันและขจัดการใช้แรงงานเกณฑ์หรือแรงงานบังคับ พ.ศ. …. มีสาระสำคัญ ดังนี้ 3.1กำหนดนิยามของแรงงานเกณฑ์หรือแรงงานบังคับ หมายความว่า “งานหรือบริการทุกชนิด ซึ่งเกณฑ์เอาจากบุคคลใดๆ โดยการขู่เข็ญการลงโทษ และซึ่งบุคคลดังกล่าวนั้นมิได้สมัครใจที่จะทำเอง” ทั้งนี้ โดยอ้างอิงจากนิยามตามอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 29 ว่าด้วยแรงงานบังคับ 3.2 กำหนดลักษณะความผิดฐานแรงงานเกณฑ์หรือแรงงานบังคับ ดังนี้  “ผู้ใดโดยทุจริตบีบบังคับ ข่มขืนใจ โดยใช้บทลงโทษทางกฎหมาย มาตรการทางวินัย หรือมาตรการตัดสิทธิประโยชน์อื่นใด โดยไม่เป็นธรรม เพื่อให้ผู้อื่นต้องทำงานหรือบริการให้แก่ตนเอง หรือบุคคลที่สามโดยไม่สมัครใจ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานแรงงานเกณฑ์หรือแรงงานบังคับ” 3.3 กำหนดบทลงโทษที่มีความเหมาะสมกับการกระทำความผิดฐานแรงงานเกณฑ์หรือแรงงานบังคับ โดยให้มีการเพิ่มโทษกับผู้กระทำความผิดที่กระทำผิดต่อผู้เสียหายที่เป็นเด็ก ผู้สูงอายุ หญิงมีครรภ์ หรือผู้มีกายพิการหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ รวมทั้งเพิ่มโทษสำหรับกรณีที่ทำให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส หรือเป็นโรคร้ายแรงซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต หรือถึงแก่ความตาย 3.4 กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ หมายถึง พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ และให้หมายความรวมถึง ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ โดยให้อำนาจหน้าที่ในการตรวจค้นบุคคล ยานพาหนะ เคหสถานหรือสถานที่ใด ๆ เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีพยานหลักฐานในการใช้แรงงานบังคับ หรือเพื่อพบและช่วยบุคคลที่ตกเป็นผู้เสียหายจากการกระทำความผิดฐานแรงงานบังคับ 3.5 กำหนดมาตรการในการช่วยเหลือ เยียวยา และคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการใช้แรงงานเกณฑ์หรือแรงงานบังคับ 3.6 กำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อการป้องกันและขจัดปัญหาการใช้แรงงานเกณฑ์หรือแรงงานบังคับ เพื่อใช้ในการช่วยเหลือและเยียวยา คุ้มครองความปลอดภัย ผู้เสียหายจากการกระทำความผิดฐานแรงงานเกณฑ์หรือแรงงานบังคับ รวมทั้งช่วยเหลือผู้เสียหายจากการกระทำความผิดฐานแรงงานเกณฑ์หรือแรงงานบังคับในต่างประเทศให้เดินทางกลับเข้ามาในราชอาณาจักรหรือถิ่นที่อยู่ ตลอดจนใช้ในการบริหารจัดการเพื่อป้องกันและขจัดปัญหาการใช้แรงงานเกณฑ์หรือแรงงานบังคับ ซึ่งรวมไปถึงการช่วยเหลือและอุดหนุนหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรเอกชน ในการช่วยเหลือ เยียวยา คุ้มครองความปลอดภัย จัดที่พักอาศัย อาหาร และเครื่องดื่ม ให้แก่ผู้เสียหายจากการกระทำความผิดฐานแรงงานเกณฑ์หรือแรงงานบังคับ และ 3.7 พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่ งานดังต่อไปนี้ (1) งานหรือบริการซึ่งอยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการเกณฑ์ทหาร (2) งานหรือบริการซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหน้าที่พลเมืองทั่วไปของประเทศ (3) งานหรือบริการที่เป็นโทษตามคำพิพากษาของศาล (4) งานหรือบริการเพื่อประโยชน์สาธารณะในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินเกิดสงคราม หรือภัยพิบัติ (5) งานหรือบริการ สำหรับชุมชนของตนเองและทำเพื่อส่วนรวมของชุมชนตนเองโดยแท้


———————————-


กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์

26 มกราคม 2561

กัณติภณ คูสมิทธิ์ ข่าว

TOP