Skip to main content

ก.แรงงาน ขับเคลื่อน AHRDA ผลิตนักศึกษาอาชีวะป้อนตลาดแรงงาน

รายละเอียดเนื้อหา

            ๓ มีนาคม ๒๕๖๐ นายบุญเลิศ ธีระตระกูล รองปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยหลังจากเป็นประธานเปิดโครงการฝึกทักษะอาชีพหลักสูตรระยะสั้นสาขางานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เพื่อพัฒนานักศึกษาอาชีวะป้อนสู่สถานประกอบกิจการ ว่าจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ จึงมีการตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ของอาเซียนหรือเป็นแนวหน้าในระดับเอเชีย โดยที่รัฐบาลได้กำหนดให้อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่เป็น ๑ ใน ๑๐ อุตสาหกรรมเป้าหมายกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) แต่ในปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์และอุตสาหกรรมอื่นๆ ต่างประสบปัญหาการขาดแคลนกำลังแรงงานทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ กระทรวงแรงงานโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ได้ใช้แนวทางประชารัฐร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จัดตั้ง “สถาบันพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ (Automotive Human Resource Development Academy–AHRDA)” ภายในสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน ๑ สมุทรปราการ เพื่อเป็นสถาบันหลักในการพัฒนากำลังแรงงานในสาขานี้มุ่งสู่ไทยแลนด์ ๔.๐ เป็นการวางรากฐานการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เป็น Brain Power ใน ๒๐ ปีข้างหน้าตามยุทธศาสตร์ของกระทรวงแรงงานและยุทธศาสตร์ชาติที่วางไว้

 


Preview

Download Images            
นายบุญเลิศ กล่าวต่อไปว่า ล่าสุดสถาบัน AHRDA ร่วมกับคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (กรอ.อศ.) กลุ่มอาชีพยานยนต์และชิ้นส่วน จัดฝึกอบรมให้กับนักศึกษาระดับปวส. จากวิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา วิทยาลัยเทคนิคสุพรรณบุรี วิทยาลัยเทคนิคนครนายก และวิทยาลัยเทคนิคชลบุรี จำนวน ๖๓ คน โดยนักศึกษากลุ่มนี้ศึกษาในระบบทวิภาคีสาขางานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งจะต้องศึกษาในวิทยาลัยเทคนิค ๑ ปี และฝึกงานในสถานประกอบกิจการ ๑ ปี และเพื่อให้นักศึกษามีศักยภาพทักษะฝีมือสูงขึ้นและสามารถฝึกปฏิบัติงานจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีการส่งนักศึกษาเข้ารับการฝึกอบรมกับสถาบัน AHRDA ภายใต้ “โครงการฝึกทักษะอาชีพหลักสูตรระยะสั้นสาขางานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์” ตาม “โครงการร่วมมือของสถาบันพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์” ระยะเวลาการฝึกอบรม ๑๒๐ ชั่วโมง จะมีการเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติจำนวน ๕ หลักสูตร ประกอบด้วย (๑) การใช้โปรแกรม NX cam For Milling Operation (๒) ทักษะงานช่างอุตสาหกรรม (๓) ไฟฟ้าเบื้องต้น (๔) การเชื่อม MAG สำหรับผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และ (๕) SQCD
             “สถาบัน AHRDA ถือเป็นต้นแบบของการทำงานร่วมกันภาครัฐและเอกชนที่ดี เพราะนอกจากจะมีการฝึกอบรมให้กับนักศึกษาอาชีวะอย่างที่กล่าวมาแล้ว ยังมีขั้นตอนการดำเนินการ การวางแผน การประเมินผล การจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงาน พร้อมด้วยหลักสูตรฝึกอบรม ๔๐ หลักสูตร ที่เน้นพัฒนาบุคลากรฝึก ครูฝึกในสถานประกอบกิจการเพื่อให้ขยายผลต่อทั้งในระดับบริหาร หรือ Super Blue Collar หรือระดับปฏิบัติการ และการฝึกครู อาจารย์ ในสถาบันการศึกษาเอกชน ด้วยการผลักดันให้อาจารย์ในสถาบันการศึกษานำมาตรฐานฝีมือแรงงานไปจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนในสถาบันอาชีวะถือเป็นโมเดลที่ดีที่จะขยายผลไปสู่ส่วนอื่นๆ ต่อไป” ณ ห้องประชุม ชั้น ๓ อาคารอำนวยการ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน ๑ สมุทรปราการ

——————————

กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์/
สมภพ ศีลบุตร ข่าว – ภาพ/
๓ มีนาคม ๒๕๖๐

TOP