Skip to main content

ก.แรงงาน จับมือ ILO ขับเคลื่อนการจ้างงานที่มีคุณค่า คุ้มครองสิทธิแรงงานสู่มาตรฐานสากล

รายละเอียดเนื้อหา

          “ปลัดแรงงาน”เปิดการสัมมนาไตรภาคีเชิงวิชาการ เรื่อง “มาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างประเทศ ส่งเสริมการจ้างงานที่มีคุณค่า เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สร้างเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน




Preview

Download Images

        นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาไตรภาคีเชิงวิชาการ เรื่อง “มาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ณ ห้องประชุมปกรณ์ อังศุสิงห์ ชั้น 10 อาคารกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ซึ่ง Mr.Graeme Buckley ผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศประจำประเทศไทย กัมพูชา และลาว เข้าร่วมการสัมมนาในครั้งนี้ด้วย โดยปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การประชุมในวันนี้มีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะการทำความเข้าใจเกี่ยวกับห่วงโซ่อุปทานของโลกรวมถึงการดำเนินการตามพันธะกรณีระหว่างประเทศ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการทำงานอย่างมีคุณค่า เป็นการรักษาไว้ซึ่งความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมทั้งความเข้มแข็งของเศรษฐกิจไทย ในห้วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกมีความผันผวนและมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
           ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อว่า การอนุวัติอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 111 ว่าด้วยการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและอาชีพ และเรื่องของหลักการและพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 144 ว่าด้วยการปรึกษาหารือไตรภาคีจึงเป็นความพยายามในการคุ้มครองสิทธิ และปรับปรุงระบบการจ้างงานให้มีคุณภาพ สิ่งเหล่านี้คือ ก้าวย่างสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามของรัฐบาลไทยในการสร้างหลักประกัน และเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงการทำงานและการจ้างงานที่มีคุณภาพ ในส่วนของอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 111 ซึ่งรัฐบาลไทยได้ให้สัตยาบันไปในเดือนมิถุนายนของปีที่ผ่านมา และจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนมิถุนายนของปีนี้ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของความมุ่งมั่น และความพยายามอย่างต่อเนื่องในการคุ้มครองสิทธิด้านแรงงาน ขจัดอคติ และเพิ่มความเท่าเทียมในโลกแห่งการทำงาน
         “การที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียซึ่งมีองค์กรภาครัฐ องค์กรนายจ้าง และองค์กรลูกจ้าง ได้มารวมตัวกันในวันนี้ จะเป็นประโยชน์สำหรับการดำเนินงานร่วมกันระหว่างไตรภาคี เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับคำนิยาม ลักษณะจำเพาะ และขอบเขตของการอนุวัติอนุสัญญา จะมีส่วนช่วยสำคัญในการสร้างความเข้าใจ อันจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการนำอนุสัญญาไปสู่การปฏิบัติในบริบทของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป” นายจรินทร์ฯ กล่าวในท้ายสุด


——————————

กลุ่มงานโฆษกและการข่าว/
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์/
ชนินทร เพ็ชรทับ – ข่าว/
สมภพ ศีลบุตร – ภาพ/
22 กุมภาพันธ์ 2561

TOP