Skip to main content

ก.แรงงาน ย้ำ บนเวที ILO ไทยส่งเสริมงานที่มีคุณค่า นำศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

รายละเอียดเนื้อหา

          ‘ปลัดแรงงาน’กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมคณะประศาสน์การ สมัยที่ ๓๒๙ ของ ILO ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ย้ำ ประเทศไทยน้อมนำเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาเป็นหลักดำรงชีวิตอย่างสมดุลและพอประมาณ เผย ก.แรงงาน ขับเคลื่อน 8 วาระปฏิรูปแรงงาน พร้อมทำงานใกล้ชิด ส่งเสริมงานที่มีคุณค่าเพื่อการพัฒนาประชาคมระหว่างประเทศอย่างยั่งยืน




Preview

Download Images

 

          หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมคณะประศาสน์การ สมัยที่ ๓๒๙ ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ในหัวข้อ งานที่มีคุณค่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ณ สำนักงานใหญ่ ILO นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส โดยกล่าวว่า งานคือหนทางหลักเพื่อหลุดพ้นความยากจนสำหรับคนยากจนส่วนใหญ่ การเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ได้ช่วยสร้างงานที่ดีและเพิ่มขึ้นเสมอไป คนยากจนจำนวนมากในประเทศกำลังพัฒนาล้วนมีงานทำอยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่อยู่ในเศรษฐกิจนอกระบบที่มีสภาพไม่มั่นคงและมีรายได้น้อยไม่เพียงพอ ดังนั้น การขจัดความยากจนไม่ได้เป็นเพียงเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโต และให้โอกาสในการมีงานทำแต่ยังสร้างความมั่นใจด้วยว่า งานที่มีอยู่ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ จะช่วยให้คนหลุดพ้นจากความยากจนได้
          ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อว่า ประเทศไทยได้น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ มาเป็นหลักนำ ซึ่งปรัชญานี้ช่วยให้เราเอาชนะสิ่งท้าทายต่างๆ และก้าวไปข้างหน้า
ได้อย่างมั่นคง “ความพอเพียง” มิได้หมายความว่าพึงพอใจในการดำรงชีวิตอยู่อย่างยากจน แต่เป็นการดำรงชีวิตอย่างสมดุลและพอประมาณ โดยยังคงมั่งคั่งได้โดยต้องไม่เบียดเบียนผู้อื่น เพื่อบรรลุความยั่งยืน เน้นการพัฒนาระดับรากหญ้า รัฐบาลไทยดำเนินนโยบาย “ประชารัฐ” ที่มุ่งสร้างโอกาสแก่ทุกคน เฉพาะอย่างยิ่งผู้ด้อยโอกาส และการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนของภาครัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นกลไกสำคัญสู่ “ไทยแลนด์ ๔.๐” เป็นรูปแบบที่จะปรับโครงสร้างประเทศสู่สังคมที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ในการดำเนินการตามวาระงานที่มีคุณค่า
           กระทรวงแรงงานได้ริเริ่มขับเคลื่อน ๘ วาระปฏิรูปแรงงาน ได้แก่ Zero corruption การปฏิรูปบทบาทกระทรวงแรงงาน การส่งเสริมการมีงานทำ การเพิ่มผลิตภาพแรงงานเพื่อรองรับไทยแลนด์ ๔.๐ การปรับปรุงสภาพการทำงานและคุณภาพชีวิตในเศรษฐกิจนอกระบบ การบูรณาการ ICT กับสภาพแวดล้อมในการทำงาน การส่งเสริมความปลอดภัยและอาชีวอนามัย และการต่อต้านการค้ามนุษย์
           “ประเทศไทยจะยังคงทำงานอย่างใกล้ชิดกับ ILO และพร้อมที่จะแบ่งปันประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีในการส่งเสริมงานที่มีคุณค่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนกับประชาคมระหว่างประเทศต่อไป” ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว—————————

กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์/
ชนินทร เพ็ชรทับ – ข่าว/
สำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ – ข้อมูล/
20 มีนาคม 2560

TOP