Skip to main content

ก.แรงงาน เปิดเวทีประชุมเครือข่ายด้านแรงงานและการคุ้มครองทางสังคมของเอเปค

รายละเอียดเนื้อหา

           วันที่ 11 พฤษภาคม 2565 นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายสมาสภ์ ปัทมะสุคนธ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานร่วม (Co-chair) เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมเครือข่ายด้านแรงงานและการคุ้มครองทางสังคม (Labour and Social Protection Network: LSPN) โดยการประชุมดังกล่าวจัดขึ้นภายใต้หัวข้อหลักการประชุม “Shaping Smart Citizens with Digitalization and Eco-Friendly awareness” โดยเน้นด้านการพัฒนาทักษะฝีมือของแรงงาน การปรับตัวให้เข้ากับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปของงานและความผันผวนของตลาดแรงงานจากข้อท้าทาทายต่าง ๆ รวมถึงข้อท้าทายจากโรคโควิด-19 การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี การตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม และการบูรณาการเรื่องเพศภาวะในนโยบายด้านแรงงาน ซึ่งมีผู้แทนจากกระทรวงแรงงานของฝ่ายไทยและเขตเศรษฐกิจเอเปคเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว จำนวน 70 คน ในรูปแบบผสมผสาน โดยงานดังกล่าวฯ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 – 12 พฤษภาคม 2565 ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ

          นายสมาสภ์ กล่าวว่า การประชุม LSPN ในปีนี้ เน้นย้ำถึงความสำคัญของแรงงานที่ปรับตัวโดยมีทักษะและองค์ความรู้ที่เหมาะกับสภาพการทำงานในอนาคตที่ยืดหยุ่น เนื่องจากเป็นที่ทราบดีว่าเทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงตลาดแรงงาน รวมถึงธรรมชาติของงาน ทำให้การพัฒนาทักษะและการฝึกอบรมมีความจำเป็นสำหรับแรงงานในการรักษาความสามารถในการจ้างงาน เทคโนโลยีดิจิทัลดังกล่าวยังถูกนำมาใช้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ทำให้ภาคธุรกิจและแรงงานต้องมีการปรับตัวเข้ากับรูปแบบการทำงานที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น

          ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ไม่เพียงแต่จะต้องพัฒนาระบบทักษะและการฝึกอบรมเพื่อตอบสนองต่อโลกของการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปให้มีประสิทธิภาพ แต่นโยบายด้านแรงงานเชิงรุกและสร้างสรรค์มีความสำคัญเท่าเทียมกันในการรับมือกับความท้าทายในตลาดแรงงาน ซึ่งเทคโนโลยีและนวัตกรรสามารถช่วยในการปรับปรุง รวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลได้มากขึ้น เพื่อเป็นการคาดการณ์แนวโน้มของตลาดแรงงานและปรับปรุงนโยบายและกลยุทธ์ด้านแรงงานได้ดีมากยิ่งขึ้น สิ่งสำคัญคือต้องเน้นย้ำถึงความต้องการเพื่อให้แน่ใจว่าแรงงานมีการทำงานที่ดี และได้รับการคุ้มครองทางสังคมสำหรับทุกคน เนื่องจากความท้าทายในตลาดแรงงานพัฒนาขึ้น และไม่สามารถทิ้งใครไว้ข้างหลังได้ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง อาทิ แรงงานนอกระบบ แรงงานสตรี และแรงงานที่เป็นผู้พิการ ซึ่งนโยบายการคุ้มครองทางสังคมจะต้องก้าวหน้าไปพร้อม ๆ กับความท้าทายที่เกิดขึ้น และตอบสนองต่อนโยบายที่ต้องมีความยืดหยุ่นและปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

          “ด้วยความมุ่งมั่นในการส่งเสริมตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งและยืดหยุ่น ตลอดจนเสริมสร้างการคุ้มครองทางสังคมที่ดี เพื่อจัดการกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทั่วทั้งเขตเศรษฐกิจเอเปค ผมเชื่อว่าเราสามารถสร้างพลวัตและความยั่งยืนร่วมกันได้” นายสมาสภ์ กล่าวทิ้งท้าย

———————————–

กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์

11 พฤษภาคม 2565

TOP