Skip to main content

“บิ๊กป้อม” กำชับ! ๓๑ มี.ค. ๒๕๖๑ ปลอดแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย สร้างความเข้าใจการใช้แรงงานถูกกฎหมายอย่างต่อเนื่อง

รายละเอียดเนื้อหา

          รองนายกฯ ประวิตร เน้นย้ำในที่ประชุม กนร. ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๑ ต้องไม่มีแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย 

 วันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ เวลา ๑๐.๐๐ น. พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (กนร.) ครั้งที่ ๓/๒๕๖๐ ณ ห้องประชุม ศ.นิคม จันทรวิทุร ชั้น ๕ อาคารกระทรวงแรงงาน โดยมี นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน คณะผู้บริหารกระทรวงแรงงาน และคณะกรรมการซึ่งเป็นผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมการประชุม ซึ่งในครั้งนี้คณะกรรมการฯ ได้ร่วมกันพิจารณา การจัดระบบฐานข้อมูลแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย ที่แบ่งออกเป็น ๓ กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ ๑ แรงงานต่างด้าวทำงานในกิจการประมงทะเลและกิจการแปรรูปสัตว์น้ำ กลุ่มที่ ๒ แรงงานที่ผ่านการตรวจสอบคัดกรองความสัมพันธ์นายจ้าง – ลูกจ้าง (กลุ่มตามคำสั่ง คสช. ที่ ๓๓/๒๕๖๐) และกลุ่มที่ ๓ แรงงานต่างด้าวที่ถือบัตรประจำตัวผู้ซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบให้กระทรวงแรงงานนำเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย มีอำนาจในการกำหนดเลขประจำตัว ๑๓ หลัก ให้กับแรงงานต่างด้าว




Preview

Download Images

 โดยพลเอกประวิตรฯ ได้สั่งการต่อที่ประชุมฯ ดังนี้ ๑. ให้กระทรวงแรงงานและกระทรวงการต่างประเทศประสานงานกับประเทศต้นทางในการเร่งตรวจสัญชาติให้กับแรงงาน เพื่อสิทธิประโยชน์และการคุ้มครองที่แรงงานจะได้รับเมื่อผ่านการตรวจสัญชาติเรียบร้อยแล้ว ๒. ให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามแนวทางที่คณะกรรมการฯ เห็นชอบ เพื่อให้การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ อันจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ในด้านบวกของประเทศไทยในระดับสากล ๓. ให้กระทรวงแรงงานประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารการจ้างงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย ให้นายจ้าง แรงงาน และประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความตระหนักรู้และเกิดความรับผิดชอบต่อส่วนรวมร่วมกัน

 ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังการประชุมว่า รัฐบาลมีนโยบายสำคัญในการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวให้หมดสิ้น โดยภายในวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๑ จะต้องไม่มีแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายอีกต่อไป และในการบริหารจัดการควรมีฐานข้อมูลแรงงานต่างด้าวฐานเดียวที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานจะพิจารณาการจ้างงานแรงงานต่างด้าว โดยคำนึงถึงความเหมาะสมกับความต้องการของตลาดแรงงานในแต่ละกลุ่มอาชีพ หากสถานประกอบการหรือนักลงทุนมีความต้องการแรงงานต่างด้าวเพิ่ม จะต้องดำเนินการในรูปแบบการนำเข้าแรงงานต่างด้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) หรือการทำข้อตกลงระหว่างบริษัทจัดหางานที่ถูกต้องตามกฎหมายของทั้งสองประเทศดำเนินการร่วมกัน (MOU) “ทั้งนี้ เราต้องให้ความสำคัญกับแรงงานไทยเป็นอันดับแรก เนื่องจากปัจจุบันมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่สามารถวางแผนส่งเสริมให้คนไทยมีงานทำเพิ่มมากขึ้น จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนตามแนวทางประชารัฐ เพื่อให้คนไทยได้ทำงานอย่างมีศักดิ์ศรี” นายจรินทร์ฯ กล่าวในท้ายที่สุด 

 

************************

 

กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ / ดาวนภา เนาวรังษี – ข่าว / สมภพ ศีลบุตร – ภาพ / ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๐

TOP