Skip to main content

“บิ๊กอู๋”หารือมาตรการแก้ปัญหาแรงงานประมง บูรณาการขับเคลื่อนมาตรา 83 ตามมติ ครม.

รายละเอียดเนื้อหา

          รมว.แรงงาน ประชุมการขับเคลื่อนมาตรการเร่งด่วนชั่วคราว มาตรา 83 แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานประมงทะเล บูรณาการหน่วยเกี่ยวข้องดำเนินการลงทะเบียนลูกจ้าง ที่ศูนย์วันสต็อปเซอร์วิส ตั้งแต่ 3 ธ.ค.61 – 31 ม.ค.62 ณ สำนักงานประมง 22 จังหวัดชายทะเล




Preview

Download Images

 

          วันที่ 8 พฤศจิกายน 2561 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมการขับเคลื่อนมาตรการเร่งด่วนชั่วคราว มาตรา 83 เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมงทะเล ณ ห้องประชุม ศ.นิคม จันทรวิทุร ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน โดยกล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคประมงทะเล โดยมอบหมายให้กระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานหลักในการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยกระทรวงแรงงานเสนอใน 3 แนวทาง คือ 1)ขยายระยะเวลาการทำงานให้กับแรงงานประมงที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรและได้รับอนุญาตทำงานตามมาตรา 83 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 กลุ่มที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ จำนวน 11,000 คน สามารถอยู่ในราชอาณาจักรได้อีก 2 ปี จนถึงวันนที่ 30 กันยายน 2563 ซึ่งจะอนุญาตให้ครั้งละ 1 ปี โดยมีแรงงานต่างด้าวกลุ่มนี้มายื่นขอขยายเวลาการทำงานจำนวน 6,082 คน 2)อนุญาตให้แรงงานต่างด้าวที่ถือหนังสือเดินทาง หนังสือเดินทางชั่วคราว เอกสารรับรองตัวบุคคล เอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางที่ยังไม่หมดอายุ สามารถอยู่ในราชอาณาจักรเพื่อทำงานในกิจการประมงทะเลเป็นเวลา 1 ปี โดยใช้หนังสือคนประจำเรือ (Seabook) เป็นใบอนุญาตทำงาน โดยจะเปิดศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ให้ลูกจ้างมาดำเนินการในวันที่ 3 ธันวาคม 2561 – 31 มกราคม 2562 รวม 60 วัน ณ สำนักงานประมงจังหวัด 22 จังหวัดชายทะเล โดยมีขั้นตอนการดำเนินการ ได้แก่ จัดทำทะเบียนประวัติโดยกรมการปกครอง ตรวจสุขภาพโดยโรงพยาบาลที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ตรวจสอบสัญญาจ้างโดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน การสแกนม่านตาเพื่อเก็บข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล โดยกรมการจัดหางาน ทำหนังสือคนประจำเรือ (Seabook) ชั่วคราว โดยสำนักงานประมงจังหวัด เป็นต้น และให้นายจ้างมาดำเนินการยื่นขอลงทะเบียนเพื่อจ้างแรงงานต่างด้าวเข้าทำงานได้ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2561 – 31 มกราคม 2562 ณ สำนักงานประมงจังหวัด 22 จังหวัดชายทะเลเช่นกัน

        พล.ต.อ.อดุลย์ฯ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการนำเข้าแรงงานต่างด้าวในกิจการประมง 3 สัญชาติ เมียนมา ลาว และกัมพูชา จากเป้าหมาย 42,000 บาท พบว่ามีนายจ้างขอนำเข้าแรงงาน 14,322 คน ดำเนินการเอกสารครบถ้วนและส่งดำเนินการที่สถานทูตแล้ว 9,614 คน ยื่นขอใบอนุญาตทำงานแล้ว 1,772 คน ซึ่งการประชุมในวันนี้จะเป็นการซักซ้อมทำความเข้าใจให้กับผู้ปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างการรับรู้และเข้าใจให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานประมงเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งจะมีการประชาสัมพันธ์อย่างกว้างขวาง และเปิดสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 ให้นายจ้างสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น


——————————————–


กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์/
กรมการจัดหางาน – ข้อมูล/
ชาญชัย ชาวหนองเพียร – ภาพ/
9 พฤศจิกายน 2561

TOP