Skip to main content

‘บิ๊กอู๋’ สั่งการ ดูแลสิทธิแรงงานเมียนมา ถูกหักค่าจ้างเกินกว่า กม. กำหนด

รายละเอียดเนื้อหา

          รมว.แรงงาน สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแรงงานสัญชาติเมียนมา ได้รับความ   เป็นธรรม กรณีถูกนายจ้างหักค่าจ้าง ไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 พร้อมสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับนายจ้าง
 
          วันนี้ (12 ม.ค. 61) นางเพชรรัตน์ สินอวย รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงแรงงาน (ศปก.รง.) ว่าจากกรณีที่มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) ได้รับการร้องเรียนจากลูกจ้างสัญชาติเมียนมา จำนวน 37 คน ว่าถูกบริษัท ตองหนึ่งรุ่งโรจน์ จำกัด นายจ้างหักค่าจ้าง ซึ่งไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 โดย 1) หักเงินจากค่าจ้างร้อยละ 5 จากยอดค่าจ้างทุกงวด โดยไม่ชี้แจงรายละเอียดว่าหักเพื่อค่าใช้จ่ายใด 2) หักเงิน งวดละ 200 บาท โดยระบุว่าเป็นค่าตำรวจ 3) หักเงินค่าใช้จ่ายในการพิสูจน์สัญชาติ จำนวนเงินตั้งแต่ 4,500 – 20,000 บาท นั้น ในเรื่องนี้ พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้สั่งการให้คุ้มครองดูแลและดำเนินการตามกฎหมายอย่างรอบด้าน เพื่อพิทักษ์สิทธิของแรงงานอย่างเท่าเทียม ซึ่งในเบื้องต้นกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน โดยสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครปฐม ร่วมกับเจ้าหน้าที่หน่วยงานในจังหวัดนครปฐมประกอบด้วย สถานีตำรวจภูธรบางเลน สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด บ้านพักเด็กและครอบครัว สำนักงานแรงงานจังหวัด สำนักงานจัดหางานจังหวัด ร่วมตรวจคัดกรองลูกจ้างสัญชาติเมียนมา ของนายจ้าง บริษัท ตองหนึ่งรุ่งโรจน์ จำกัด ซึ่งได้ยื่นเรื่องขอความช่วยเหลือกรณีนายจ้างหักค่าจ้าง ว่าเป็นเหยื่อจากการค้ามนุษย์หรือไม่ ณ ห้องประชุมอำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค. 61 – 11 ม.ค. 61 โดยสรุปผลการคัดแยกเหยื่อทั้ง 2 วัน จำนวน 40 คน ไม่พบว่าเป็นเหยื่อจากการค่ามนุษย์ จำนวน 37 คน และควรได้รับการช่วยเหลือและคุ้มครองตามกฎหมายอื่น ซึ่งอาจจะเป็นเหยื่อจากการค้ามนุษย์ จำนวน 3 คน 
          นอกจากนี้ สำนักงานประกันสังคม โดยสำนักงานประกันสังคมจังหวัดนครปฐม ได้ดำเนินการตรวจสอบบริษัท ตองหนึ่งรุ่งโรจน์ จำกัด ซึ่งในเบื้องต้น ลูกจ้างสัญชาติเมียนมาไม่มีข้อมูลการขออนุญาตทำงานจากสำนักงานจัดหางานจังหวัดนครปฐม และยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน ดังนั้น สำนักงานประกันสังคมจังหวัดนครปฐม จะดำเนินการตรวจสอบการขออนุญาติทำงานของลูกจ้างสัญชาติเมียนมา เพื่อดำเนินการติดตามให้นายจ้างขึ้นทะเบียนลูกจ้างให้เป็นผู้ประกันตนต่อไป
          ทั้งนี้ รมว.แรงงาน ได้เน้นย้ำให้ “พนักงานตรวจแรงงานสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครปฐม ทำการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานร่วมกับส่วนกลางเพื่อดำเนินคดีกับนายจ้างตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป” นางเพชรรัตน์ฯ กล่าวในท้ายที่สุด
 
+++++++++++++++++++
 
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
ปริยรณ พรหมสาขา ณ สกลนคร ภาพและข่าว
12 มกราคม 2561
TOP