Skip to main content

ปลัดกระทรวงแรงงาน มอบหมาย รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดกิจกรรมวันความปลอดภัยและอาชีวอนามัยสากล ประจำปี 2567

รายละเอียดเนื้อหา

          วันที่ 27 เมษายน 2567 เวลา 09.00 น. นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายวรรณรัตน์ ศรีสุขใส รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานกล่าวเปิดกิจกรรมวันความปลอดภัยและอาชีวอนามัยสากล ประจำปี 2567 ณ ห้องแกรนด์บอลรูม ชั้น 5 อาคาร 20 ปี ศูนย์วิจัยทางการแพทย์อาชีวเวชศาสตรไทย อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี

          นายวรรณรัตน์ กล่าวว่า ผมมีความยินดีและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้มาเป็นประธานในพีธีเปิดกิจกรรมวันความปลอดภัยและอาชีวอนามัยสากล ประจำปี 2567 ในวันนี้ กระทรวงแรงงาน โดยท่านพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรรงแรงงาน ได้กำหนดนโยบายการขับเคลื่อนงนที่สำคัญและต้องเร่งผลักดันให้ประสบผลสำเร็จ ภายใต้แนวคิด “ทักษะดี มีงานทำ หลักประกันสังคมเด่น เน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” ซึ่งการดำเนินงานเพื่อให้ผู้ใช้แรงงานได้รับการคุ้มครองและได้รับสิทธิตามกฎหมายในทุกด้าน ได้แก่ ค่าจ้าง สวัสดิการ และความปลอดภัยในการทำงาน ถือเป็นภารกิจที่สำคัญเพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงาน อันจะมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ ซึ่งวันที่ 28 เมษายน ของทุกปีองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ILO กำหนดให้เป็นวันความปลอดภัยและอาชีวอนามัยสากล (World Day for Safety and Health at Work) มุ่งเน้นให้ทุกประเทศทั่วโลกให้มีความตระหนักเกี่ยวกับความสำคัญของปัญหาและวิธีการส่งเสริมวัฒนธรรมความปลอดภัยและด้านสุขภาพเพื่อช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากการทำงาน

          นายวรรณรัตน์ กล่าวต่อว่า สำหรับการดำเนินงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน กระทรวงแรงงานให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนงานเพื่อตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติฯ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ตลอดจนนโยบายระเบียบวาระแห่งชาติ “แรงงานปลอดภัยและสุขภาพอนามัยดี” ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2560 – 2569) โดยอาศัยกลไกการขับเคลื่อนงานภายใต้กรอบแนวทางการดำเนินการของ (ร่าง) แผนแม่บทความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2566 – 2570) และกรอบยุทธศาสตร์โครงการความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของประเทศไทย หรือ Safety Thailand ซึ่งมุ่งเน้นดำเนินการให้อัตราการประสบอันตรายจากการทำงาน กรณีร้ายแรงลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยในปี 2566 อัตราการประสบอันตรายจากการทำงาน กรณีร้ายแรง เท่ากับ 2.13 ต่อลูกจ้าง 1,000 ราย ซึ่งลดลงร้อยละ 4.05 เมื่อเทียบกับปี 2565

          “เครือข่ายเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ถือว่าเป็นบุคคลที่มีความสำคัญและมีคุณค่าขององค์กร เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนงานด้านความปลอดภัยในการทำงานให้ประสบความสำเร็จ และเป็นผู้สร้างกลไกในการถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจสู่ผู้ปฏิบัติงานทุกระดับ ผมขอชื่นชมศูนย์วิจัยทางการแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ไทย โรงพยาบาลซีเมด ลีฟวิ่งแคร์ ชมรมเครือข่ายความปลอดภัยพระนคร หน่วยงานฝึกอบรมเพอร์เฟคเซฟตี้ เทรนนิ่ง แอนด์ คอนซัลติ้งและภาคีเครือข่ายความปลอดภัยในการทำงานภาคส่วนอื่นๆ ที่ได้รวมตัวกันเป็นภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็ง และร่วมกันพัฒนางานความปลอดภัยในการทำงานผ่านการดำเนินงานและการจัดกิจกรรมต่างๆ ตลอดจนสร้างการมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้นระหว่างภาครัฐกับเครือข่ายความปลอดภัยในการทำงานและสถานประกอบกิจการ อันแสดงให้เห็นถึงพลังในการขับเคลื่อนงานด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เกิดผลสัมฤทธิ์และเป็นรูปธรรม หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ในครั้งนี้จะเป็นโอกาสที่ทุกท่านจะได้แลกเปลี่ยนข้อมูลประสบการณ์ในการปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยฯ ระหว่างกัน และร่วมกันนำความรู้ไปเผยแพร่และสร้างการรับรู้ในวงกว้าง และพัฒนาจนเป็นวัฒนธรรมความปลอดภัยในการทำงานขึ้นในสังคมไทย เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความปลอดภัยในการทำงานต่อไป” นายวรรณรัตน์ กล่าว

 

+++++++++++++++++++ 

 

กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์

TOP