Skip to main content

ฝ่ายแรงงาน ประจำ สอท. ณ กรุงเบอร์ลิน : การปฏิรูปแรงงาน ความหวังของผู้ยากจนในเยอรมนี

รายละเอียดเนื้อหา

การปฏิรูปแรงงาน ความหวังของผู้ยากจนในเยอรมนี
 

      พนักงานทำความสะอาดโรงพยาบาล นาง Petra Vogel เป็นผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งประเภทที่พรรคสังคมประชาธิปไตย (Social Democrat) ต้องการเพื่อชนะการเลือกตั้งที่นายกรัฐมนตรี Angela Merkel ลงแข่งขันอีกครั้งในเดือนกันยายน 2560 นี้ 
      Petra อายุ 60 ปี ใช้เวลาครึ่งหนึ่งของชีวิตเธอทำงานที่คลีนิกในเมือง Bochum รัฐ North Rhine-Westphalia (NRW) สุขภาพที่เสื่อมลงจากการทำงานใช้แรงงานเป็นเวลาหลายปี ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการเข้าร่วมกิจกรรมของสหภาพ ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง
      “ฉันรู้สึกเหมือนถูกโกง” Petra กล่าว เมื่อเธอนึกถึงสภาพการทำงานที่ลำบาก และอนาคตทางอาชีพที่ไม่สดใส นายจ้าง (บริษัททำความสะอาด) จ่ายค่าจ้าง 10.51 ยูโร (สุทธิ) ต่อชั่วโมง คิดเป็นรายได้ 1,115 ยูโรต่อเดือน โดยทำงาน 39 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งเงินจำนวนนี้หลังจากหักค่าเช่าและค่าสาธารณูปโภค เธอจะมีเงินเหลือ 350 ยูโรต่อเดือนสำหรับค่าอาหาร เสื้อผ้า ยารักษาเบาหวาน และอื่นๆ ซึ่งในอีก 5 ปีข้างหน้าเธอจะเกษียณอายุหลังจากการทำงานมาเป็นเวลา 41 ปี พร้อมเงินบำนาญ 665 ยูโรต่อเดือน
      Petra กล่าวว่า เธอไม่อยากจะคิดถึงเรื่องนี้ เพราะเมื่อเกษียณเธอคงจะอยู่ในกลุ่มของผู้รับบำนาญที่ยากจน เธอแค่หวังว่าจะยังคงมีร่างกายที่แข็งแรง เพื่อสามารถทำงาน (Mini-jobs) ที่มีรายได้ 450 ยูโรต่อเดือนภายหลังเกษียณอายุได้ เธอไม่อยากเชื่อว่าเธออยู่ในประเทศที่ร่ำราย แต่กลับได้รับการปฎิบัติเช่นนี้

สงครามเพื่อความยุติธรรมทางสังคม
      ชาวเยอรมันจำนวนหลายล้านคนก็อยู่ในสถานะเดียวกันกับ Petra ที่ต่อสู้เพื่อให้มีชีวิตอยู่รอดในแต่ละเดือน และหวาดกลัวต่อการเกษียณอายุ งาน Mini-Jobs ที่ Petra คาดหวังว่าจะนำรายได้มาให้หลังเกษียณ เป็นหนึ่งในมาตรการ Agenda 2010 การปฏิรูปตลาดแรงงาน ภายใต้การนำของนาย Gerhard Schroeder นายกรัฐมนตรีในช่วงต้นศตวรรษที่ 20
      มาตรการนี้ดำเนินการไปพร้อมกับการนำมาตรการ “Hartz IV” (เงินช่วยเหลือการว่างงาน : unemployment  benefits) ซึ่งหมายถึง การจ่ายเงินช่วยเหลือขั้นต่ำสำหรับผู้หางานทำ (job seekers) ที่ว่างงานอย่างน้อย 1 ปี
      นาย Eric Seils จาก Hans Bockler Foundation ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ German Trade Union Confederation กล่าวว่า จากการมีระบบการคุ้มครองทางสังคมที่ไม่เข้มแข็ง ความกลัวว่าการว่างงานในสังคมเยอรมันจะเพิ่มมากขึ้น และการที่ประชาชนจำเป็นต้องทำงานที่ไม่มีความมั่นคง ทำให้งานที่จ่ายค่าจ้างต่ำ เช่น Mini-jobs กลายเป็นอีกด้านหนึ่งของงานที่เศรษฐกิจยุโรปได้รับประโยชน์ ขณะที่การว่างงานในเยอรมนีมีระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่มีการรวมประเทศในปี 1990 และ 9.7 % ของประชากรในวัยแรงงานอยู่ใต้เส้นระดับความยากจน (มีรายได้ประมาณ 940 ยูโรต่อเดือน หรือต่ำกว่า) ตัวเลขนี้ได้ลดลงเหลือ 7.5 % ในปี 2006 และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วยุโรปซึ่งอยู่ที่ 9.5 %
      ด้วยเศรษฐกิจที่กำลังเติบโต และรัฐบาลมีรายได้ส่วนเกินจากภาษี ผู้นำพรรค Social Democratic Party (SPD) นาย Martin Schulz ได้นำประเด็น “เพิ่มความยุติธรรมทางสังคม (more social justice)” มาเป็นประเด็นที่ท้าทาย นาง Angela Merkel และพรรค Christian Democratic Union (CDU) ในการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีที่จะมีขึ้นในเดือนกันยายนศกนี้
      พรรค SPD ได้เสนอที่จะปรับปรุงบางส่วนของ Agenda 2010 วางแผนที่จะขยายเงินช่วยเหลือการว่างงาน และจำกัดการใช้สัญญาจ้างงานระยะสั้น ในขณะที่พรรค CDU พยายามที่จะคงมาตรการเดิมไว้ เพื่อแสดงถึงความสำเร็จของพรรคในการบริหารประเทศที่ผ่านมา

การทดสอบ
      การปิดโรงงานของ บริษัท Nokia และ บริษัทผลิตรถยนต์ Opel ได้ส่งผลกระทบต่อเมือง Bochum แหล่งทำเหมืองเก่าที่มีประชากรประมาณ 300,000 คน และเป็นเขตอุตสาหกรรม
      การเลือกตั้งระดับภูมิภาคที่จะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม นี้ในรัฐ North-Rhine Westphalia (NRW) จะเป็นการทดสอบสำหรับการเลือกตั้งในระดับชาติที่จะมีในเดือนกันกยายนนี้
      นาย Anton Hillebrand  ทำงานในชมรมท้องถิ่นที่ให้คำแนะนำแก่สมาชิกในการขอรับสวัสดิการต่างๆกล่าวว่า “เราจะต้องมีการทบทวนระบบที่มีอยู่” นาย Rainer Piske คนขับรถแท๊กซี่ อายุ 54 ปี เป็นหนึ่งในผู้ขอ ความช่วยเหลือจากรัฐ นาย Rainer ทำงาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ด้วยค่าจ้างขั้นต่ำชั่วโมงละ 8.84 ยูโร จะมีรายได้เมื่อสิ้นเดือนเท่ากับ 1.135 ยูโร เขากล่าวว่า “มันไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต และไม่ยุติธรรม”
      นาย Rainer กล่าวว่า เขายังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเลือกใครสำหรับการเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่จะถึงนี้ ในขณะที่ Petra ให้การสนับสนุนพรรคนิยมซ้าย Party Die Links ซึ่งเป็นพรรคที่นักการเมืองอนุรักษ์นิยมกล่าวว่าจะนำอันตรายมาสู่เศรษฐกิจเยอรมันหากได้รับการเลือกตั้ง แต่อย่างไรก็ตาม Petra มีความเชื่อว่า “ตราบใดที่ยังไม่มีการปลี่ยนแปลงอย่างเต็มรูปแบบ ก็จะไม่มีอะไรเกิดขึ้น”
 

——————————————————–

 

ข่าวแรงงาน ลำดับที่ 27 /2560 
ฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน
17  พฤษภาคม 2560

TOP