Skip to main content

“พล.ต.อ. อดุลย์ฯ” สั่งตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมเยียวยาเหยื่อถูกหลอกลงเรือประมง

รายละเอียดเนื้อหา

          รมว.แรงงาน สั่งตรวจสอบกรณีชายชาวจังหวัดอุตรดิตถ์ถูกหลอกลงเรือประมง บังคับใช้แรงงาน กว่า 15 ปี ไม่ได้รับเงินค่าจ้าง กำชับเจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมหามาตรการเยียวยาเหยื่อผู้เสียหาย ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายและการประกอบอาชีพ

  นางเพชรรัตน์  สินอวย รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงแรงงาน (ศปก.รง.) วันนี้ (28 มี.ค. 61) ว่า ลตำรวจเอก อดุลย์  แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กำชับให้กระทรวงแรงงานตรวจสอบและให้ความช่วยเหลือกรณีแรงงานไทยถูกหลอกไปทำงานในเรือประมง เป็นเวลา 15 ปี ในเบื้องต้นได้สั่งการให้หน่วยงานในพื้นที่เดินทางไปสอบถามข้อมูลพบว่า แรงงานดังกล่าวชื่อนายเถลิง ยงพูเขียว อายุ 54 ปี ชาวจังหวัดอุตรดิตถ์ ออกจากบ้านไปทำงานรับจ้างต่างจังหวัด ก่อนถูกนายหน้าคนไทยไม่ทราบชื่อชักชวนไปทำงานเป็นคนงานในเรือประมงเมื่อปี พ.ศ. 2545 โดยตกลงค่าจ้างเป็นรายเดือนๆ ละ 8,500 บาท มีเงื่อนไขว่าให้กลับขึ้นฝั่งได้เดือนละ 1 ครั้ง นายเถลิงฯ จึงตกลงไปทำงานด้วย จากนั้นนายหน้าคนดังกล่าวจึงได้พานายเถลิงฯ และคนงานอื่นๆ จำนวน 10 คน ทั้งคนไทยและคนเมียนมา เดินทางไปขึ้นเรือที่จังหวัดพังงาในเวลากลางคืน สภาพการทำงานเป็นการทำงานบนเรือประมงลากอวนขนาดใหญ่ทั้งวันทั้งคืน ไม่มีการลงเวลาทำงาน ไม่มีวันหยุด นายจ้างจัดอาหารให้จำกัดรวม 3 มื้อ และได้ยึดบัตรประจำตัวประชาชนไว้ตั้งแต่ขึ้นเรือ ต่อมาประมาณเดือนกันยายนหรือตุลาคม 2560 ได้มีเรือเล็กเข้าไปรับนายเถลิงฯ พร้อมด้วยลูกเรือประมงรวม 20 คน กลับเข้าฝั่งจังหวัดพังงาในเวลากลางคืน เพื่อสับเปลี่ยนลูกเรือประมงชุดใหม่ เมื่อขึ้นฝั่งนายเถลิงฯ และลูกเรืออื่นๆ จึงแยกย้ายกัน โดยไม่ได้รับเงินค่าจ้างหรือเงินอื่นใด รวมระยะเวลาที่อยู่บนเรือประมงประมาน 15 ปี 

   นางเพชรรัตน์ฯ กล่าวต่อว่า ในเบื้องต้นเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานในพื้นที่ได้ลงเข้าตรวจเยี่ยมที่บ้านของนายเถลิงฯ เพื่อสอบถามถึงความต้องการความช่วยเหลือในด้านต่างๆ โดยได้มอบหมายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานประสานให้ความคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน การถูกเอารัดเอาเปรียบ รวมถึงประเด็นการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน หรือประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง กรมการจัดหางานดำเนินการประสานให้ความช่วยเหลือด้านการประกอบอาชีพ และจัดหาตำแหน่งงานตามที่มีความถนัดให้ทำ นอกจากนี้ รมว.แรงงาน ยังได้มอบหมายให้สำนักงานประกันสังคมรับผิดชอบดูแลเกี่ยวกับการรับเข้าระบบประกันสังคม หากมีความประสงค์จะเป็นผู้ประกันตน ทั้งนี้ ยังได้กำชับให้ทุกหน่วยงานในกระทรวงแรงงานบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องตรวจสอบข้อมูลอย่างรอบด้าน เพื่อให้ความช่วยเหลือและหามาตรการเยียวยาแก่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการใช้แรงงานอย่างผิดกฎหมาย ให้มีความเป็นอยู่และมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป

   หากพบเบาะแสการใช้แรงงานในลักษณะบังคับหรือการจ้างงานแบบผิดกฎหมายแรงงาน สามารถโทรแจ้งได้ที่ สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 3 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

 

+++++++++++++++++++++++

 

กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์/

ดาวนภา  เนาวรังษี – ข่าว/

ปริยรณ  พรหมสาขา ณ สกลนคร – ภาพ/

28 มีนาคม 2561

 
TOP