Skip to main content

พัฒนา บัณฑิตแรงงาน ชายแดนใต้

รายละเอียดเนื้อหา

            กระทรวงแรงาน สัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมภูมิปัญญา เพิ่มคุณค่า พัฒนาพลังบัณฑิตแรงงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา พัฒนาทักษะความชำนาญ พร้อมดึงศักยภาพ เพื่อประสิทธิภาพการทำงานให้ดียิ่งขึ้น


      

Preview

Download Images

       นายวิชัย คงรัตนชาติ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงาน เป็นประธานเปิดงาน “การสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมภูมิปัญญา เพิ่มคุณค่า พัฒนาพลังบัณฑิตแรงงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” ณ โรงแรมเดอะ รีเจนท์ บีช รีสอร์ท อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า บัณฑิตแรงงานมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการทำงานของกระทรวงแรงงาน ซึ่งได้เข้าไปสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และสร้างความมั่นคงในการทำงานให้เกิดขึ้นกับประชาชนในตำบล หมู่บ้าน อีกทั้งการที่บัณฑิตแรงงานได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานสำรวจ และจัดเก็บข้อมูลด้านแรงงานในพื้นที่ ถือเป็นการช่วยส่งเสริมการปฏิบัติงานให้แก่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สามารถดำเนินการตามแผนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลสถานการณ์แรงงานของของประชาชนในพื้นที่ ทั้งด้านการให้บริการ พัฒนา และการแก้ไขปัญหาต่างๆ รวมถึงภารกิจนอกเหนือจากภารกิจหลักของกระทรวงแรงงานที่สนับสนุนหน่วยงานอื่นๆ


            บัณฑิตแรงงานถือเป็นสื่อกลางที่จะนำบริการ และสิทธิประโยชน์ที่ประชาชนควรจะได้รับไปสู่ประชาชนในระดับพื้นที่ ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นข้อต่อที่เชื่อมโยง ที่จะช่วยลดหรือบรรเทาสถานการณ์ความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันระหว่างเจ้าหน้าที่ภาครัฐกับประชาชน ซึ่งการทำงานในพื้นที่จะต้องให้ความสำคัญต่อการปรับปรุงบริการ กระบวนการ และสร้างคุณค่าให้ตอบสนองความต้องการ รวมถึงทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน


            นายวิชัยฯ ยังได้ฝากบัณฑิตแรงงานให้นำความรู้ไปเผยแพร่แก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ด้วยการส่งต่อข้อมูลข่าวสารตามข้อเท็จจริงได้อย่างถูกต้อง พร้อมทำงานเชิงรุก เปลี่ยนกรอบ มีมิติใหม่ในการคิดนำมาประยุกต์ใช้ในการทำงาน ทั้งนี้ การสัมมนาฯ จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๔ – ๑๖ มีนาคม ๒๕๖๐ มีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย แรงงานจังหวัดปัตตานี แรงงานจังหวัดนราธิวาส ผู้กำกับดูแลบัณฑิตแรงงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน บัณฑิตแรงงานจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา จำนวน ๓๘๐ คน


            ด้านบัณฑิตแรงงานเผยประสบการณ์การทำงานในพื้นที่ นางสาวเบ็ญจมาศ ประดุจพล บัณฑิตแรงงาน จังหวัดสงขลา ทำงานมา ๖ ปี กล่าวว่า การเข้ามาทำงานเป็นบัณฑิตแรงงาน เนื่องจากได้ทำงานจิตอาสามาก่อน และคิดว่าการได้เข้ามาทำงานจะทำให้ขอบเขตความสามารถมากขึ้น และเมื่อลงพื้นที่ก็ช่วยเหลือชาวบ้านได้มากขึ้นในหลายด้าน อีกทั้งชาวบ้านในพื้นที่มีปัญหาหลากหลายเนื่องจากไม่เปิดใจให้ แต่ก็ใช้ระยะเวลาหนึ่งในการเข้าไปสัมผัสเพื่อให้ไว้วางใจเชื่อใจและยอมเปิดใจให้ก็จะสามารถเข้าไปแก้ปัญหาให้ได้ การทำงานที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันประโยชน์ที่ได้คือ ได้ใจจากชาวบ้านและรู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง ได้เป็นสื่อกลางจากกระทรวงนำไปถ่ายทอดให้กับชาวบ้านได้มีความรู้ความสามารถมากขึ้น และเข้าถึงสิทธิประโยชน์ที่ควรจะได้รับ จากที่เมื่อก่อนไม่รู้ว่าใช้ช่องทางไหนเข้าหาหน่วยงานของรัฐต่างๆ แต่เมื่อเข้าไปตรงนั้นเขาสามารถสื่อผ่านไปยังเบื้องบนและข่าวสารช่วยเหลือต่างๆ จากเบื้องบนลงไปหาชาวบ้านได้อย่างเต็มที่และถูกต้องด้วย


            นางสาวอัญญา มะเซ็ง บัณฑิตแรงงาน จังหวัดยะลา ทำงานมา ๑ ปี กล่าวว่า บัณฑิตแรงงานสอนให้มีความรู้หลายๆ อย่าง และประทับใจที่ได้บริการประชาชนด้านการฝึกอาชีพ เนื่องจากชาวบ้านในพื้นที่เป็นแรงงานนอกระบบไม่มีงานทำหรือมีงานหลักแต่รายได้ยังไม่เพียงพอเลี้ยงครอบครัว จึงได้นำอาชีพเข้าไปฝึกชาวบ้านให้มีรายได้เพิ่มขึ้น อีกทั้งบัณฑิตแรงงานมีโครงการสำนึกรักบ้านเกิด โดยบัณฑิตแรงงานของแต่ละอำเภอร่วมมือกันและไปพัฒนาอำเภอที่มีความเดือดร้อน ซึ่งเสียงตอบรับจากประชาชนที่กลับมาคือ โชคดีที่มีบัณฑิตแรงงานที่ลงมาช่วยประสานระหว่างประชาชนกับกระทรวงแรงงาน เนื่องชาวบ้านไม่รู้จะติดต่อและเข้าหาหน่วยงานได้อย่างไร ทั้งด้านประกันสังคม จัดหางาน พัฒนาฝีมือแรงงาน และสวัสดิการแรงงาน


            นายไพโรจน์ อารง บัณฑิตแรงงาน จังหวัดนราธิวาส ทำงานมา ๑๐ ปี กล่าวว่า ขณะนี้ชาวบ้านในพื้นที่ที่อยากมีอาชีพ และต้องการหางานก็จะมาหาบัณฑิตแรงงานที่ศูนย์แรงงานอำเภอ การมีบัณฑิตแรงงานประจำตำบลก็เปรียบเสมือนสำนักงานย่อยของแรงงานอำเภอ เนื่องจากเชื่อว่าบัณฑิตแรงงานเป็นคนในพื้นที่ย่อมรู้ดีกว่าคนนอกพื้นที่และทำงานด้วยความจริงใจ อีกทั้งโครงการต่างๆ ที่ทำก็เป็นความต้องการของชาวบ้านจริงๆ เข้าไปหาชาวบ้านทุกหมู่ โดยบูรณาการบัณฑิตแรงงานจังหวัดนราธิวาสเข้าไปช่วยเหลือในสิ่งที่ต้องการ ซึ่งทำให้ได้ใจและตรงใจชาวบ้านในพื้นที่ และต้องขอขอบคุณกระทรวงแรงงานที่มีโครงการดีๆ อย่างนี้มา ๑๐ ปี และหวังอย่างยิ่งว่าโครงการนี้จะมีตลอดไป


            นายธีวินท์ ยะโกะ บัณฑิตแรงงาน จังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ทำงานมา ๑๐ ปี เริ่มแรกที่ทำงานต้องเข้าไปทำความรู้จักกับผู้นำชุมชนท้องถิ่น เพื่อให้ทราบว่าเข้ามาในนามของผู้แทนกระทรวงแรงงาน นำภารกิจต่างๆ มาบอกแก่ทางชุมชนทราบ อีกทั้งยังเป็นลูกหลานของคนในพื้นที่ ที่รู้ดีว่าพื้นที่แต่ละแห่งมีความเป็นอยู่อย่างไร ประชาชนพี่น้องมีอาชีพ มีรายได้อย่างไร ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบมากกว่าเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานอื่นๆ และเมื่อเป็นที่ยอมรับชาวบ้านก็จะเข้ามาหา โครงการบัณฑิตแรงานถือเป็นโครงการที่ดีทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่ครบถ้วนและรวดเร็ว ทั้งการจัดหางาน การฝึกอาชีพ ทำให้ประชาชนในพื้นที่มีอาชีพที่ดีขึ้น ซึ่งต้องขอขอบคุณที่ได้เริ่มโครงการนี้ขึ้นมา ซึ่งทำให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ กับ ๔ อำเภอของสงขลา ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และได้รู้จักกระทรวงแรงงานมากขึ้น และขอฝากถึงความมั่นคงของการปฏิบัติงานที่ต้องต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับการประสานงาน ดูแลที่ยั่งยืน และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นมากกว่านี้ สันติสุขจะกลับในจังหวัดชายแดนภาคใต้


#######################


กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์

๑๕ มีนาคม ๒๕๖๐

กัณติภณ คูสมิทธิ์ – ข่าว

สมภพ ศีลบุตร – ภาพ

TOP