Skip to main content

“รัฐมนตรีสุชาติ” รับ 12ข้อเรียกร้องแรงงานนอกระบบ ยันรัฐบาลจริงใจให้สวัสดิการเต็มที่

รายละเอียดเนื้อหา

          วันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๐.๐๐ น. นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รับข้อเรียกร้อง เรื่อง”การฟื้นฟูแรงงานนอกระบบจากโควิด -19″จาก นายสมคิด ด้วงเงิน ประธานสมาพันธ์แรงงานนอกระบบ (ประเทศไทย) และเครือข่ายแรงงานนอกระบบประมาณ ๓๐๐ คน ณ ห้องกลุ่มงานคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ชั้นล่างอาคารกระทรวงแรงงาน โดยมี นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ข้อเรียกร้องที่เสนอกระทรวงแรงงานผ่านไปยังรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มิได้นิ่งนอนใจ ได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องแรงงานทุกกลุ่มเหมือนคนในครอบครัว โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบถือเป็นกลุ่มแรงงานขนาดใหญ่ที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีได้กำชับมาโดยตลอดว่า ทำอย่างไรให้แรงงานนอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบได้มากที่สุด วันนี้ที่ทำได้คือ นำแรงงานนอกระบบเข้ามาเป็นผู้ประกันตนมาตรา ๔๐
ในวันนี้เมื่อพี่น้องกลุ่มแรงงานนอกระบบได้รับความเดือดร้อน ผมฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงได้ลงมารับหนังสือข้อเรียกร้องด้วยตนเอง สำหรับข้อเรียกร้องต่างๆ ซึ่งหลายเรื่องได้ดำเนินการไปแล้ว แต่ขาดการประชาสัมพันธ์ ได้แก่ กองทุนรับงานไปทำที่บ้าน การหารือกับกรุงเทพมหานครเพื่อคืนพื้นที่ทางการค้าเพื่อการประกอบอาชีพแก่แรงงานนอกระบบ การจ้างงานอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่นของกระทรวงมหาดไทยตำบลละ ๒ คน การรักษาการจ้างงานแรงงานในระบบกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด -19 การจัดทำแพลตฟอร์มเพื่อรองรับการขายสินค้าและบริการของแรงงานนอกระบบ การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้ดีขึ้น ส่วนโครงการคนละครึ่งเป็นโครงการที่ท่านนายกรัฐมนตรีเป็นคนคิดให้กระทรวงการคลังไปทำการบ้าน และนายกรัฐมนตรีได้เพิ่มจำนวนให้อีกเป็นเฟส ๒ และเพิ่มจำนวนเงินให้อีก ทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนหลายหมื่นล้าน การคุ้มครองทางสังคมที่เท่าเทียมและทั่วถึง เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในสถานการณ์วิกฤตจากโควิด -19

          ส่วนข้อเรียกร้องที่เหลือกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ การสนับสนุนให้มีการจัดตั้งกองทุนการประกอบอาชีพอิสระเพื่อให้แรงงานนอกระบบเข้าถึงทุน ให้ฝ่ายเลขาฯ เชิญผู้แทนกระทรวงการคลังเข้ามาร่วมหารือ การขอลดเงินสมทบมาตรา ๔๐ ในระบบประกันสังคม มอบหมายให้ปลัดกระทรวงแรงงานในฐานะประธานบอร์ดร่วมพิจารณาความเป็นไปได้ ให้มีการประกันการมีงานทำ ให้ สปส.ศึกษาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนมาตรา ๔๐ ให้ สปส.ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาพิจารณาหารือในรายละเอียดเพื่อให้ได้ข้อสรุปต่อไป เป็นต้น

          สำหรับข้อเรียกร้องของสมาพันธ์แรงงานนอกระบบ (ประเทศไทย) ที่ขอยื่นต่อรัฐบาล ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม เพื่อเรียกร้องนโยบายแรงงานนอกระบบที่ดีกว่าเดิม มีดังนี้ ๑) ขอให้รัฐสนับสนุนให้มีกองทุนประกอบอาชีพอิสระแรงงานนอกระบบ เพื่อให้แรงงานนอกระบบทุกกลุ่มได้เข้าถึงความช่วยเหลือด้านทุนการประกอบอาชีพ ๒) ขอให้มีการทบทวนหลักเกณฑ์การให้เงินกู้สำหรับกองทุนผู้รับงานไปทำที่บ้าน ๓) คืนพื้นที่ทางการค้าขายเพื่อการประกอบอาชีพให้แก่แรงงานนอกระบบ ๔) ให้หน่วยงานภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดทำโครงการจ้างงาน workfare เพื่อจ้างงานแรงงานที่ทำงานบริการสาธารณะ ๕) ให้มีการประกันการมีงานทำแก่แรงงานนอกระบบอย่างน้อย 10 วันต่อเดือน โดยได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ ๖) ให้รัฐรักษาการจ้างงานแรงงานในระบบกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากโควิด – 19 โดยอุดหนุนค่าจ้างในลักษณะร่วมจ่ายแบบ Co – Payment ในกิจการขนาดเล็ก (SMEs) เพื่อป้องกันการผลักแรงงานออกมาเป็นแรงงานนอกระบบเพิ่มขึ้น ๗) โครงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ต้องจัดสรรโควตาให้แก่แรงงานนอกระบบที่ได้รับผลกระทบจากโควิด – 19 อย่างน้อยร้อยละ ๓๐ ๘) ให้จัดสรรงบประมาณแก่กลุ่มแรงงานนอกระบบให้สามารถยกระดับความสามารถทางการแข่งขัน สนับสนุนการลงทุนพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อรองรับการขายสินค้าและบริการของแรงงานนอกระบบ ๙) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐทุกมาตรการ ทั้งเที่ยวด้วยกัน คนละครึ่ง และอื่นๆ ต้องครอบคลุมสินค้าและบริการของแรงงานนอกระบบ ๑๐) ต้องการพัฒนาฝีมือแรงงานให้ดีขึ้นเพื่อให้สามารถประกอบอาชีพในตลาดแรงงานใหม่หลังโควิด – 19 ได้ ๑๑) ต้องการคุ้มครองทางสังคมที่เท่าเทียมและทั่วถึง เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสถานการณ์วิกฤตจากโควิด – 19 รวมถึงวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต และ ๑๒) ในการดำเนินการตามข้อเสนอทุกข้อ ต้องให้มีการมีส่วนร่วมและกำกับติดตามจากสมาพันธ์แรงงานนอกระบบ ภาคประชาสังคม และภาคีวิชาการ เพื่อให้ดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล

++++++++++++++++++++++++++++++++

กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์

๗ ธันวาคม ๒๕๖๓

TOP