Skip to main content

“สมาคมโรงแรมไทย” ชื่นชม “กระทรวงแรงงาน” ยื่นมือช่วยเหลือ แก้ไขสถานการณ์ได้ดีมาก

รายละเอียดเนื้อหา

          วันที่ 13 มีนาคม 2563 เวลา 13.30 น. ที่สมาคมโรงแรมไทย ถนนราชดำเนินกลาง หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นัดประชุมหารือ กับ นางสาวศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ นายกสมาคมโรงแรมไทย และ นางสาวจุฑาฑัตต เหล่าธรรมทัศน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรครวมพลังประชาชาติไทย ตั้งโต๊ะหารือ ช่วยเหลือผู้ประกอบการโรงแรม หลังนักท่องเที่ยวหดหาย ส่งผลให้เกิดปัญหาการว่างงานซึ่งเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19
          ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังประชุมหารือกับสมาคมโรงแรมไทย ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ขึ้นในหลายประเทศส่งผลให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบโดยเฉพาะผู้ประกอบการโรงแรมของไทยกำลังเผชิญกับภาวะการชะลอตัว ปิดกิจการ ไม่มีการจ้างงานลูกจ้างในโรงแรม จากการลดลงของนักท่องเที่ยว ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีอาชีพอื่นรองรับ และบางส่วน ก็ไม่ได้ตั้งรับกับเหตุการณ์ดังกล่าว “สิ่งที่กระทรวงแรงงานและ สมาคมโรงแรมไทย เร่งดำเนินการคือ การหารือร่วมกันเพื่อหามาตรการช่วยเหลือและฟื้นฟูความเชื่อมั่นให้กับกลุ่มโรงแรมไทย โดยทั้งสองฝ่ายเห็นควรว่า ควรมีมาตรการรองรับช่วยเหลือ รวมทั้งผลักดัน ส่งเสริม กระตุ้นการจ้างงาน ซึ่งจากการรับฟังปัญหาของสมาคมโรงแรมไทย พบว่า สิ่งที่อยากให้รัฐบาลช่วยเร่งด่วนในตอนนี้คือ เรื่องการว่างงาน ซึ่งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างอาชีพธุรกิจโรงแรมได้รับผลกระทบหนักที่สุด จึงได้ร่วมกันประชุมเพื่อหาทางแก้ไขต่อไป” ดร.ดวงฤทธิ์ฯ กล่าว ในส่วนของกระทรวงแรงงานได้มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการรองรับสถานการณ์การว่างงานจากผลกระทบดังกล่าว เพื่ออำนวยการประสานงาน และพิจารณามาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบเยียวยาลูกจ้าง และนายจ้าง โดยเน้นย้ำ ให้ทุกหน่วยงานในกระทรวงแรงงาน ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วนสร้างความพอใจให้กับนายจ้างที่เข้าร่วมหารืออย่างมาก ” เบื้องต้น จะรีบตรวจสอบสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบ และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจะบูรณาการทำงานร่วมกัน โดยกรมการจัดหางานซึ่งมีภารกิจหลักในด้านการส่งเสริมการมีงานทำให้แก่ประชาชนได้กำหนดมาตรการรองรับเพื่อให้การช่วยเหลือผู้ถูกเลิกจ้างดังนี้มาตรการก่อนมีการเลิกจ้างได้มีข้อสั่งการให้สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 ดำเนินการเฝ้าระวังและติดตามสถานประกอบการในพื้นที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการติดตามสถานการณ์ของสถานประกอบการในพื้นที่ที่รับผิดชอบที่มีแนวโน้มจะเลิกประกอบกิจการหรือเลิกจ้างหรือลดจำนวนลูกจ้างเพื่อเตรียมหาตำแหน่งงานว่างในประเภทกิจการเดียวกัน หรือใกล้เคียงกันไว้รองรับผู้ถูกเลิกจ้างโดยจะมีการติดตามสถานการณ์เป็นระยะและประสานหน่วยงานในสังกัดทั้งส่วนกลางและภูมิภาคเตรียมการรองรับ มาตรการหลังมีการเลิกจ้างกรณีมีความชัดเจนว่ามีการเลิกจ้างเป็นจำนวนมาก จะสำรวจความต้องการเบื้องต้นของผู้ถูกเลิกจ้างเพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ ด้านกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จะพัฒนาฝีมือแรงงงาน(up skill)ให้ตรงกับความต้องการของนายจ้าง ส่วนประกันสังคม จะสร้างการรับรู้ โดนลงพื้นที่เข้าไปยังสถานประกอบการ และกรมสวัสดิการและคุ้มครอง จะดูแล ตรวจสอบข้อมูลสถานประกอบการในกลุ่มเสี่ยงที่มีการเลิกจ้างงาน ” ผู้ช่วยฯกล่าวในตอนท้าย

+++++++++++++++++++

กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
13 มีนาคม 2563

TOP