Skip to main content

ก.แรงงาน จัดอบรมโครงการพัฒนาการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของกระทรวงแรงงานเพื่อยกระดับค่าดัชนีการรับรู้การทุจริต

รายละเอียดเนื้อหา

          วันที่ 20 มกราคม 2565 นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดการอบรมโครงการพัฒนาการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของกระทรวงแรงงานเพื่อยกระดับค่าดัชนีการรับรู้การทุจริต ณ ห้องประชุมประสงค์ รณะนันท์ ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน ในรูปแบบ Video Conference ผ่านระบบ Zoom โดยมีผู้บริหารระดับสูง และหัวหน้าส่วนของกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมการอบรมในครั้งนี้

          นายบุญชอบ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560 – 2565) ได้กำหนดวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยใสสะอาด ไทยทั้งชาติด้านทุจริต (Zero Tolerance and Clean Thailand)” โดยมีเป้าประสงค์ “ประเทศไทยมีค่าดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) สูงกว่าร้อยละ 50” และเป็นไปตามมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับจากทั้งภายในและต่างประเทศ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้นำมากำหนดเป็นแผนปฏิบัติการด้านการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563 – 2565) โดยมีตัวชี้วัดที่สำคัญคือ “ร้อยละของหน่วยงานที่ผ่านเกณฑ์การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity & Transparency Assessment: ITA) จึงขอให้ทุกคนระดมความคิดเห็นเพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและเป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดสำหรับในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สำนักงาน ป.ป.ช. กำหนดให้ทุกหน่วยงานต้องผ่านเกณฑ์การประเมินไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 และนอกจากนั้นได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กำหนดให้ทุกหน่วยงานของรัฐประกาศตนเป็นหน่วยงานที่เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคนไม่รับของขวัญและของกำนัลทุกชนิดจากการปฏิบัติหน้าที่และได้กำหนดเป็นตัวชี้วัดในการประเมิน ITA เพื่อมุ่งหวังให้หน่วยงานภาครัฐที่เข้ารับการประเมินได้มีการปรับปรุงพัฒนาเชื่อมโยงและต่อเนื่อง

          ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้พวกเราทุกคนตระหนักและให้ความร่วมมือกันทำให้ผลการประเมินในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และในปีต่อ ๆ ไปเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด จึงควรมีแนวทางในการดำเนินงาน คือ ขอให้ทุกหน่วยงานพิจารณาผลการประเมินของหน่วยงานว่าในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ตัวชี้วัดใดตกแต่คะแนนต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนด ให้นำมาทบทวนและถามข้อสงสัยจากวิทยากรสองทำความเข้าใจกฎเกณฑ์การประเมินในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ตัวชี้วัดไหนที่มีเพิ่มเติม หรือมีการวัดที่ต่างจากปีงบประมาณพ.ศ. 2564 โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้เข้ารับการอบรมในวันนี้ จะนำแนวทางการพัฒนาองค์กรตามแนวทางการประเมิน ITA ไปพัฒนาและขับเคลื่อนกระทรวงแรงงานให้มีมาตรฐานเดียวกัน เป็นที่ยอมรับ และอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อไป

————————————————————————

กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์

20 มกราคม 2565

 

TOP