Skip to main content

ก.แรงงาน ประชุมหารือระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส Abu Dhabi Dialogue (ADD)

รายละเอียดเนื้อหา

          นายสมศักดิ์ อภิวันทนกุล ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมหารือระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส Abu Dhabi Dialogue (ADD) ระหว่างวันที่ 8 – 9 พฤษภาคม 2561 ณ กรุงโคลัมโบ สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา (Abu Dhabi Dialogue among the Asian Labour-Sending and Receiving Countries) โดยการประชุมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของแรงงานตลอดกระบวนการเคลื่อนย้ายแรงงาน เพื่อให้การเคลื่อนย้ายแรงงานเป็นไปอย่างเป็นธรรม ปลอดภัย และเกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่อประเทศผู้ส่งและประเทศผู้รับ ทั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกาเป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดการประชุม โดยประเทศไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกในกรอบความร่วมมือดังกล่าวตั้งแต่ปี 2551



Preview

Download Images
 
          ผู้เข้าร่วมการประชุม ประกอบด้วย ผู้แทนจากประเทศสมาชิก ADD ผู้แทนจากประเทศผู้สังเกตการณ์ และองค์กรระหว่างประเทศ รวมทั้งสิ้น 100 คน โดยมีผู้แทนสำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ สป. และกรมการจัดหางานจากประเทศไทยเข้าร่วมประชุมด้วย
          หัวข้อหลักในการประชุมประกอบด้วย การนำเสนองานวิจัยในประเด็นการดำเนินงานตามโครงการ CIOP (Comprehensive Information and Orientation Program) ซึ่งเป็นการจับคู่ระหว่างประเทศสมาชิก ADD (ประเทศผู้รับ) และประเทศสมาชิก CP (ประเทศผู้ส่งแรงงาน) การพิจารณาปรับแนวทางการดำเนินการให้สอดคล้องกับข้อตกลง GCM (Global Compact on Safe, Orderly and Regular Migration) การเสริมสร้างความเข้มแข็งเชิงนโยบายของประเทศต้นทางและประเทศปลายทางในการจ้างงาน ข้อตกลงยอมรับร่วมคุณสมบัติวิชาชีพ (MRA) และทิศทางการจ้างงานคนทำงานบ้าน (domestic workers) ในประเทศกลุ่มอ่าวในอนาคต
          นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบการเปิดตัวเว็บไซต์ของ Abu Dhabi Dialogue และได้หารือและแลกเปลี่ยนความรู้ ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีเข้ามาส่งเสริมและสนับสนุนการจัดส่งแรงงานระหว่างประเทศผู้รับและผู้ส่ง การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน การพัฒนามาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพในระดับภูมิภาค เพื่อให้การรับรองทักษะฝีมือแรงงานเป็นมาตรฐาน การส่งเสริมบทบาทของภาคเอกชนและภาคประชาสังคมในกระบวนการเคลื่อนย้ายแรงงาน การขยายความคุ้มครองทางสังคมในประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนของแรงงานต่างด้าว การนำเสนองานวิจัยและสถานการณ์และรูปแบบการจ้างงานคนทำงานบ้าน (domestic workers) ในประเทศกลุ่มอ่าวอาหรับ แนวโน้ม ข้อเสนอแนะ และประเด็นท้าทายในอนาคต ตลอดจนการขยายความร่วมมือกรอบข้อตกลงคุณสมบัติวิชาชีพ กลุ่มประเทศอาหรับจับคู่กับประเทศเอเซีย (อินเดีย/ปากีสถาน/ฟิลิปปินส์) เป็นต้น 
 
+++++++++++++++++++
 
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
กลุ่มงานอาเซียน สำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ ข้อมูล
10 พฤษภาคม 2561
TOP