Skip to main content

ก.แรงงาน ร่วมส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ

รายละเอียดเนื้อหา

           กระทรวงแรงงาน ร่วมเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเตรียมความพร้อมไตรภาคีระดับชาติสำหรับการประชุมอาเซียน ครั้งที่ 12 ด้านแรงงานข้ามชาติ  (AFML: ASEAN Forum on Migrant Labour) เน้นย้ำ ไทยตระหนักถึงความสำคัญของแรงงานข้ามชาติ พร้อมส่งเสริมให้ได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรมตามหลักสากล เข้าถึงการคุ้มครองในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเสมอภาคและเท่าเทียม

 

 

           วันที่ 13 กันยายน 2562 เวลา 09.00 น. นายสุทธิ  สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นางพัฒนา  พันธุฟัก ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเตรียมความพร้อมไตรภาคีระดับชาติสำหรับการประชุมอาเซียน ครั้งที่ 12 ด้านแรงงานข้ามชาติ  (AFML: ASEAN Forum on Migrant Labour) ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ โดยมี Mr. Paul Stephens อัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย Mr. Jeffrey Senior ที่ปรึกษาอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจและการเมือง สถานทูต แคนาดาประจำประเทศไทย Mr. Gramme Buckley ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศประจำประเทศไทย กัมพูชาและลาว ผู้แทนองค์กรนายจ้าง ผู้แทนองค์กรลูกจ้าง และผู้แทนภาคประชาสังคม เข้าร่วมประชุม 

            ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ประเทศไทยตระหนักถึงความสำคัญของแรงงานข้ามชาติในฐานะกลไกสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ในปัจจุบันมีแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย กว่า 3 ล้านคน โดยแรงงานทุกคน ไม่ว่าจะเป็นสัญชาติใด เพศไหน หรือทำงานในกิจการอะไร จะต้องได้รับความคุ้มครองในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน รัฐบาลให้ความสำคัญและตระหนักในการส่งเสริมให้แรงงานข้ามชาติได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรมตามหลักสากล รวมทั้ง โอกาสในการเข้าถึงงานที่มีคุณค่า สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกเข้าสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งส่งผลกระทบและทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อความต้องการในตลาดแรงงาน และขีดความสามารถในการปรับตัวของแรงงาน ถือเป็นความท้าทายใหม่ในการเตรียมความพร้อมรับมือกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ทั้งเรื่องการคุ้มครอง ความยุติธรรม ความเท่าเทียมกัน และการจ้างงานแรงงานข้ามชาติ ในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน 

           “รัฐบาล โดยกระทรวงแรงงานและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จึงต้องร่วมมือร่วมใจกัน ในการเตรียมความพร้อมรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้น ตลอดจนการแก้ไขปัญหาเดิมที่ยังคงมีอยู่ ซึ่งไม่เพียงแต่จะต้องมีการปรับปรุงนโยบาย กฎหมาย และกฎระเบียบ ที่มีอยู่ให้สอดคล้องกับสภาวะความเปลี่ยนแปลง แต่ความท้าทายอีกประการหนึ่ง คือการนำประโยชน์ของเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยส่งเสริมให้แรงงานข้ามชาติได้รับการคุ้มครองสิทธิและเข้าถึงงานที่มีคุณค่าอย่างเท่าเทียมกัน โดยการบูรณาการ การตรวจคุ้มครองแรงงาน การส่งเสริมแรงงานย้ายถิ่นตามกฎหมายร่วมกับภาคีเครือข่าย และความร่วมมือด้านการจ้างงานระหว่างรัฐในรูปแบบ MOU เป็นต้น” ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวในท้ายสุด

 

+++++++++++++++++++++++

 

กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์

ดาวนภา เนาวรังษี – ข่าว

ชาญชัย ชาวหนองเพียร – ภาพ

13 กันยายน 2562

TOP