Skip to main content

“บิ๊กอู๋”ควง รัฐมนตรีแรงงานเมียนมา ตรวจศูนย์ OSS เร่งพิสูจน์สัญชาติแรงงาน

รายละเอียดเนื้อหา

             รมว.แรงงาน พร้อม รัฐมนตรีแรงงานเมียนมา ร่วมหารือแนวทางเพิ่มขีดความสามารถเร่งรัดพิสูจน์สัญชาติแรงงาน พร้อมตรวจการทำงานศูนย์ OSS ศูนย์พิสูจน์สัญชาตินำแรงงานเข้าสู่ระบบที่ถูกต้อง ได้รับการคุ้มครองดูแลตามกฎหมาย




Preview

Download Images        

                พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับ H.E.Thein Swe รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตรวจคนเข้าเมืองและประชากร สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และคณะที่เข้าเยี่ยมคารวะและหารือเรื่องการพิสูจน์สัญชาติแรงงานเมียนมา ณ ห้องรับรองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ชั้น 6 อาคารกระทรวงแรงงาน พร้อมตรวจการดำเนินงานของศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (OSS) กระทรวงแรงงาน โดยกล่าวว่า จากการหารือในวันนี้ทั้งสองประเทศยินดีที่จะร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาเพื่อให้แรงงานได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ขณะนี้มีแรงงานเมียนมาที่รอดำเนินการพิสูจน์สัญชาติราว 1.8 แสนคน เหลือเวลา 3 เดือน ซึ่งจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 มิ.ย.61 โดยจะร่วมกันหาแนวทางเพื่อพิสูจน์ให้ทราบว่าปัจจุบันยังมีแรงงานเหลืออยู่อีกจำนวนเท่าใด เนื่องจากแรงงานบางส่วนอาจจะเดินทางกลับประเทศไปแล้ว และเปลี่ยนสถานะของวีซ่า เพื่อให้ทราบจำนวนแรงงานทั้งหมดที่ชัดเจน
           พล.ต.อ.อดุลย์ฯ กล่าวต่อว่า เพื่อให้การพิสูจน์สัญชาติเสร็จทันตามกำหนดจะเพิ่มชุดโมบายเพื่อเข้าไปดำเนินการพิสูจน์สัญชาติในพื้นที่ที่มีแรงงานจำนวนมาก ขณะนี้ยังมีแรงงานต่างด้าวอีกประมาณ 4 แสนคน ที่จะต้องมารายงานตัวเพื่อจัดทำทะเบียนประวัติให้แล้วเสร็จภายใน 31 มีนาคมนี้ ซึ่งในขีดความสามารถของศูนย์ OSS ทั้ง 80 แห่ง คาดว่าจะดำเนินการได้ประมาณ 1 แสนคน ส่วนที่เหลือประมาณ 3 แสน มีทางเลือกให้ 2 ทาง คือ สามารถรายงานตัวที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 หรือรายงานตัวออนไลน์ที่ www.doe.go.th โดยสามารถใช้มือถือกรอกข้อมูลได้สะดวกและง่ายมาก ซึ่งขณะนี้ได้กำชับให้แรงงานจังหวัดประสานกับนายจ้างเพื่อเร่งดำเนินการรายงานตัวออนไลน์ที่สะดวกรวดเร็วกว่า ซึ่งกระทรวงแรงงานจะได้มีฐานข้อมูลในการบริหารแรงงานต่อไปได้ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะได้ดำเนินการลงตราวีซ่าเพื่อให้แรงงานต่างด้าวสามารถอยู่ในประเทศไทยได้อีก 2 ปี (31 มี.ค.63) โดยแรงงานต่างด้าวจะต้องไปจัดทำทะเบียนประวัติ ตรวจสุขภาพ และขอใบอนุญาตทำงานเพื่อให้ทำงานได้อีก 2 ปีเช่นกัน
          “ได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวง รองปลัดกระทรวง อธิบดีกรมการจัดหางาน และผู้เกี่ยวข้องได้หารือในรายละเอียดกับคณะของทางการเมียนมา เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาด้านแรงงาน ซึ่งรัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญในการคุ้มครองแรงงานต่างด้าวเหมือนกับแรงงานไทยเช่นเดียวกัน ทั้งด้านการทำงานที่ถูกต้อง มีความปลอดภัยในการทำงาน วันหยุดพักผ่อนตามกฎหมายกำหนด เงินค่าจ้าง ที่พัก รวมทั้งการดูแลเด็กที่ติดตามมาให้ดีที่สุด ซึ่งจะเป็นการป้องกันการค้ามนุษย์อีกด้วย” พล.ต.อ.อดุลย์ฯ กล่าวในท้ายสุด


—————————-

กลุ่มงานโฆษกและการข่าว
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์/
ชนินทร เพ็ชรทับ – ข่าว/
สมภพ ศีลบุตร – ภาพ/
29 มีนาคม 2561

TOP