Skip to main content

“บิ๊กอู๋”บุกชลบุรี เตรียมเปิดศูนย์บริหารแรงงานแบบครบวงจร รองรับอีอีซี 16 พ.ย.นี้

รายละเอียดเนื้อหา

                รมว.แรงงาน ลงพื้นที่ จ.ชลบุรี ตรวจสอบความพร้อมของศูนย์บริหารแรงงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หวังเป็นศูนย์จัดหางานและพัฒนาแรงงานอย่างเป็นระบบและครบวงจร รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซี พร้อมให้บริการนายจ้าง ผู้สมัครงานแบบวันสต็อปเซอร์วิส ดีเดย์เปิดบริการอย่างเป็นทางการ 16 พฤศจิกายนนี้



Preview

Download Images

            เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ตรวจความพร้อมของสถานที่ตั้งศูนย์บริหารแรงงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC Labour Administration Centre) ณ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 3 ชลบุรี ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 145 ต.หนองไม้แดง อ.เมือง จ.ชลบุรี สำหรับศูนย์ฯ แห่งนี้ กำหนดเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 16 พฤศจิกายนนี้ เพื่อเป็นศูนย์จัดหางานและพัฒนาแรงงานอย่างเป็นระบบ รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC โดยบริหารจัดการข้อมูลแรงงานในพื้นที่ EEC ให้บริการผู้สมัครงาน และนายจ้าง/สถานประกอบกิจการ ประสานความร่วมมือในการปฏิบัติงานในเฉพาะด้านแรงงานกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)
           พล.ต.อ.อดุลย์ฯ กล่าวว่า ศูนย์บริหารแรงงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก แห่งนี้จะให้บริการในลักษณะจุดบริการแบบเบ็ดเสร็จสำหรับผู้สมัครงาน (One Stop Service) ใน 5 ขั้นตอน ได้แก่ 1) ลงทะเบียนและสัมภาษณ์เบื้องต้น โดยกรมการจัดหางาน รับลงทะเบียนสมัครงาน/รับแจ้งตำแหน่งงานว่าง สัมภาษณ์เพื่อทราบรายละเอียดลักษณะงาน (Job Description) และคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้สมัครงาน 2)แนะแนวและทดสอบความพร้อมทางอาชีพ โดยกรมการจัดหางานจะทดสอบความถนัดของตนเอง แนะนำเส้นทางอาชีพที่เหมาะสม เตรียมความพร้อมในการสมัครและสัมภาษณ์งาน 3)จับคู่ตำแหน่งงาน โดยกรมการจัดหางานจะจับคู่ตำแหน่งงานทีเหมาะสม ส่งตัวผู้สมัครงานพบนายจ้าง 4)พัฒนาทักษะฝีมือ โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ฝึกอบรมทักษะฝีมือแรงงาน ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ประเมินเพื่อรับรองความรู้ความสามารถ ให้คำแนะนำสถานประกอบกิจการเรื่องสิทธิประโยชน์ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประสานการพัฒนาเครือข่ายด้านการพัฒนาแรงงาน และ 5)คุ้มครองแรงงานและสิทธิประโยชน์ประกันสังคม โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานและสำนักงานประกันสังคม ให้ความรู้ด้านคุ้มครองแรงงาน ส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์ สวัสดิการแรงงาน ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน รับเรื่องร้องทุกข์ร้องเรียนและส่งต่อ ให้บริการตรวจสอบสิทธิ รับยื่นแบบคำขอรับสิทธิประโยชน์ ให้คำปรึกษาและให้ความรู้งานประกันสังคม เป็นต้น
           สำหรับนายจ้างและผู้ประกอบกิจการ จะให้บริการตรวจลงตราและขอใบอนุญาตทำงาน โดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและกรมการจัดหางาน จะให้บริการตรวจลงตรา (Visa) และขอใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) แก่ผู้บริหารช่างฝีมือ ผู้ชำนาญการตามกฎหมาย BOI การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เป็นต้น ศูนย์บริหารแรงงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ยังเป็นศูนย์บริหารจัดการข้อมูลแรงงานในพื้นที่ EEC โดยทำหน้าที่ประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม เพื่อวิเคราะห์สภาวะตลาดแรงงาน แนวโน้มความต้องการแรงงานตลอดจนเป็นศูนย์ฯ ประสานความร่วมมือในการวางแผนพัฒนากำลังแรงงานในพื้นที่ EEC และให้บริการข้อมูลข่าวสารภาครัฐ เอกชน และนักลงทุนในพื้นที่ EEC อีกด้วย
          ปัจจุบัน พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกมีสถานประกอบการ 37,296 แห่ง ลูกจ้าง 1,549,976 คน มีความต้องการแรงงาน ณ เดือนกันยายน 61 จำนวน 14,767 อัตรา จากสถานประกอบการ 1,011 แห่ง ส่วนแนวโน้มความต้องการกำลังแรงงานในช่วง 5 ปี ตั้งแต่ปี 2560 – 2564 โดยศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย จำนวน 1.77 แสนคน (ข้อมูลจากกองบริหารข้อมูลตลาดแรงงาน ณ เดือน ตุลาคม 2561) ซึ่งแผนการดำเนินระยะสั้น มีเป้าหมายจัดหาแรงงานจำนวน 14,767 อัตรา ฝึกทักษะฝีมือใหม่และฝึกเพิ่ม จำนวน 582,941 คน ส่งเสริมการทำงานของแรงงานต่างด้าวทักษะฝีมือ จำนวน 6,000 คน ส่งเสริมสวัสดิการและกำกับดูแลคุ้มครองแรงงาน จำนวน 2,196 แห่ง 23 ครั้ง 114,300 คน นอกจากนี้ แผนงานระยะสั้นยังเน้นหนัก 6 เดือนแรก แนะแนวอาชีพนักเรียน รับลงทะเบียนสมัครงาน จับคู่ตำแหน่งงาน ฝึกทักษะฝีมือแรงงานรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายและอุตสาหกรรรมชั้นสูง ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติและพัฒนาศักยภาพแรงงานเพื่อรองรับการจ่ายค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ และส่งเสริมให้สถานประกอบการที่มีลูกจ้าง 100 คนขึ้นไปฝึกอบรมลูกจ้างของตนเองไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ตามที่กฎหมายกำหนด และดำเนินการต่อเนื่องในเรื่องการตรวจลงตราและออกใบอนุญาตทำงาน ให้แก่ ผู้บริหาร ช่างฝีมือ และผู้ชำนาญการตามกฎหมาย BOI การนิคม และการปิโตรเลียม การส่งเสริมการจัดสวัสดิการแรงงานแบบยืดหยุ่นเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน การปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อเฝ้าระวังและป้องกันปัญหาแรงงานสัมพันธ์ในกลุ่มกิจการยานยนต์ กำกับดูแลให้แรงงานได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน การขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนตามมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 ผู้ประกันตนให้บริการยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนผ่านตู้ TDM และให้บริการผ่านระบบ e-service e-payment Application SSO Connect Mobile เป็นต้น
           แผนการดำเนินงานของศูนย์ฯ ในระยะกลาง 1-5 ปี มีเป้าหมายในการจัดหาแรงงานเข้าสู่โครงการพื้นฐานหลักของ EEC โดยการสำรวจความต้องการแรงงานจากผู้รับการประมูลงาน เชื่อมโยงข้อมูลแอพพลิเคชั่น เข้าสู่ระบบบริหารจัดการของ EEC สร้างกระบวนการแนะแนวอาชีพการปรับทัศนคติ และสร้างค่านิยมในการทำงานตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษา สร้างเครือข่ายฝึกทักษะฝีมือกับสถานศึกษาและภาคเอกชน จัดเตรียมหลักสูตรการพัฒนาฝีมือให้สอดคล้องกับความต้องการและโครงสร้างพื้นฐาน ตรวจลงตราและออกใบอนุญาตทำงานด้วยระบบดิจิทัล ส่วนในระยะยาว 5-10 ปี มีเป้าหมายในการจัดหาแรงงานเข้าสู่โครงการพื้นฐานหลักของ EEC โดยการเชื่อมโยงข้อมูล Demand & Supply ด้วยระบบดิจิทัลครบวงจร มีระบบ Matching ที่สะดวกรวดเร็วทาง Online โดยสามารถหางานด้วยตนเองและระบบสนับสนุนให้บริการกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ประสานแนะแนวอาชีพเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ 10 อุตสาหกรรมกลุ่มเป้าหมาย มีหลักสูตรการพัฒนาทักษะตามความต้องการของ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย มีระบบ Reskill และ Employment รองรับการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานและการปรับเปลี่ยนอาชีพ


—————————————-

กลุ่มงานโฆษกและการข่าว/
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์/
ชนินทร เพ็ชรทับ – ข่าว/
สมภพ ศีลบุตร – ภาพ/
1 พฤศจิกายน 2561

TOP