Skip to main content

“บิ๊กอู๋” พอใจผลพิสูจน์สัญชาติเมียนมา จ.เชียงใหม่ ย้ำ รัฐบาลไทยดูแลแรงงานทุกคน เหมือนลูกค้า

รายละเอียดเนื้อหา

          รมว.แรงงาน เผย พอใจผลการพิสูจน์สัญชาติแรงงานเมียนมา จ.เชียงใหม่ ยืนยัน รัฐบาลไทยให้การดูแลแรงงานทุกคนเหมือนลูกค้า บูรณาการหน่วยงานเกี่ยวข้องจัดระบบขั้นตอน เน้นสะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ แล้วเสร็จทันเวลา พร้อมเพิ่มศักยภาพแรงงานสำหรับอุตสาหกรรมบริการสุขภาพ ขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0

          พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังการตรวจติดตามผลการดำเนินงานของศูนย์บริการเพื่อการทำงานของคนต่างด้าวสัญชาติเมียนมา (OSS) จังหวัดเชียงใหม่ ว่า ภาพรวมถือว่าพอใจที่ได้เห็นการบูรณาการขับเคลื่อนการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำหรับจังหวัดเชียงใหม่มีแรงงานต่างด้าวที่เข้ารับการพิสูจน์สัญชาติประมาณ 120,000 คน สามารถให้บริการได้วันละ 800-1,000 คน ขณะนี้เหลือแรงงานที่รอการพิสูจน์สัญชาติอีก 20,000 คน ซึ่งจะใช้เวลา 2 เดือนถึงจะแล้วเสร็จ โดยใช้เวลาเฉลี่ยคนละ 2 ชม.30 นาที ทั้งนี้ พล.ต.อ.อดุลย์ฯ ได้กำชับให้จัดหางานจังหวัดและแรงงานจังหวัดบูรณาการในการทำงานอย่างเต็มที่เพื่อให้การพิสูจน์สัญชาติแล้วเสร็จทันเวลา ขณะเดียวกันให้บูรณาการกับประเทศต้นทาง สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้กระบวนการขั้นตอนการพิสูจน์สัญชาติตั้งแต่ระบบคิวมีความชัดเจน ไม่มีระบบนายหน้ารวมทั้งประสานการปฏิบัติกับผู้ประกอบการเพื่อให้สามารถดำเนินการได้ทันเวลา

       


Preview

Download Images 

       ในการลงพื้นที่ครั้งนี้  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และคณะ ได้ตรวจเยี่ยมศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงาน ภาค 3 เพื่อตรวจติดตามการดำเนินงานและให้กำลังใจผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพเนื่องจากประสบอันตรายจากการทำงาน โอกาสนี้ พล.ต.อ.อดุลย์ฯ ได้มอบนโยบายให้ศูนย์ฟื้นฟูฯ บูรณาการทำงานอย่างแน่นแฟ้นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มหาวิทยาลัย องค์กรพัฒนาเอกชนที่ดูแลงานด้านผู้พิการ รวมทั้งกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เป็นต้น เพื่อให้สามารถมีกระบวนการทำงานที่สอดรับกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้ศูนย์ฯ  ออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการ  ทั้งระบบแจ้งเหตุฉุกเฉิน ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน รวมทั้งในอนาคตให้มีการพัฒนาสถานที่เพื่อสามารถรองรับการประชุมสัมมนาแก่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานและหน่วยงานภายนอกได้อีกด้วย

         จากนั้น พล.ต.อ.อดุลย์ฯ และคณะ ได้ตรวจติดตามการดำเนินงานของสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 19 เชียงใหม่ โดยได้ตรวจเยี่ยมและพบปะให้กำลังใจกับผู้เข้ารับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานสาขาช่างเดินไฟฟ้าภายในอาคาร สาขาผู้ประกอบอาหารไทย สาขาติดตั้งเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น และตรวจติดตามการดำเนินงานของสถาบันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สำหรับอุตสาหกรรมบริการสุขภาพ ต.แช่ช้าง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ โดยสถาบันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สำหรับอุตสาหกรรมบริการสุขภาพ มีภารกิจหลักในการพัฒนาบุคลากรด้านบริการสุขภาพ (Wellness Academy) และการบริหารจัดการศูนย์สุขภาพ (Wellness Center) ให้มีประสิทธิภาพ เหมาะสมและต่อเนื่อง รวมทั้งพัฒนาบุคลากรฝึก ส่งเสริมมาตรฐานฝีมอแรงงานในสถานประกอบการ พัฒนาหลักสูตรการฝึกในสาขาอาชีพนักส่งเสริมสุขภาพ ทั้งนี้ จากผลการดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2559 – 2561 สามารถพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สำหรับอุตสาหกรรมบริการสุขภาพ ในกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Wellness Hab) โดยการฝึกเตรียมเข้าทำงาน ฝึกยกระดับฝีมือแรงงาน ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน พัฒนาศักยภาพฝีมือแรงงานเพื่อรองรับการจ่ายค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน และการฝึกอาชีพเสริม รวมทั้งสิ้น 3,389 คน

 

————————–

 

กลุ่มงานโฆษกและการข่าว/

กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์/

ชนินทร เพ็ชรทับ – ข่าว/

สมภพ ศีลบุตร- ภาพ/

31 มกราคม 2561

 
TOP