Skip to main content

รมว.สุชาติ มอบ ‘พล.ต.ต.นันทชาติ’ ลงกระบี่ ตรวจแรงงานประมง

รายละเอียดเนื้อหา

          นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ พลตำรวจตรี นันทชาติ ศุภมงคล ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่กระบี่ ตรวจคุ้มครองแรงงานในเรือประมงทะเล ณ ท่าเทียบเรือศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงทะเลกระบี่ พบปะกับลูกจ้าง นายจ้าง และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์

         เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ พลตำรวจตรี นันทชาติ ศุภมงคล ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ตรวจคุ้มครองแรงงานในเรือประมงทะเล ณ ท่าเทียบเรือศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงทะเลกระบี่ จังหวัดกระบี่

          โดย พล.ต.ต.นันทชาติ กล่าวว่า รัฐบาล ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กระทรวงแรงงาน ภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนนโยบายการป้องกันและขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) และยกระดับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ สู่ Tier 1 เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและองค์การแรงงานระหว่างประเทศ

          พล.ต.ต.นันทชาติ กล่าวต่อว่า ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น ได้มอบหมายให้ผมและคณะลงพื้นที่จังหวัดกระบี่เพื่อมาตรวจคุ้มครองแรงงานในเรือประมงทะเล เยี่ยมและรับฟังรายงานผลการดำเนินงาน ปัญหาอุปสรรคด้านแรงงานในการประกอบอาชีพประมงทะเล พบปะกับลูกจ้าง นายจ้าง และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ โดยได้ลงตรวจเรือประมง จำนวน 5 ลำ ดังนี้ 1. เรือส.เพชรสมุทร 11 ขนาด 31.65 ตันกรอส มีลูกเรือ 25 คน เป็นสัญชาติไทย 25 คน 2. เรือสาวทะเล 1 ขนาด 37.36 ตันกรอส ลูกเรือ 27 คน เป็นสัญชาติไทย 21 คน สัญชาติเมียนมา 6 คน 3. เรือป.โชคสมเกียรติ 1 ขนาด 31.62 ตันกรอส ลูกเรือ 27 คน เป็นสัญชาติไทย 27 คน 4. เรือจตุพลนำทรัพย์ 99 ขนาด 36.45 ตันกรอส ลูกเรือ 24 คน เป็นสัญชาติไทย 12 คน สัญชาติ เมียนมา 12 คน 5. เรือชนากานต์ 9 ขนาด 70.81 ตันกรอส ลูกเรือ 22 คน ในโอกาสนี้ได้เน้นย้ำ ถึงนโยบายรัฐบาลในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน นายจ้าง และลูกจ้างในเรือประมงโดยเฉพาะการจัดสวัสดิการ ให้มีอาหารและน้ำดื่มที่สะอาดถูกสุขลักษณะ มีห้องน้ำ ห้องเวชภัณฑ์และยาเพื่อใช้ปฐมพยาบาลเบื้องต้น ในจำนวนที่เพียงพอ เพื่อให้เหมาะสมกับการทำงานและระยะเวลาการใช้ชีวิตบนเรือ รวมทั้งได้กำชับให้นายจ้างให้ความรู้แก่ลูกจ้างเกี่ยวกับสภาพการทำงาน วิธีการใช้เครื่องมืออุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยในการทำงาน เพื่อให้มีสุขภาพอนามัยที่ดีขณะใช้ชีวิตอยู่บนเรือ และตรวจเช็คความพร้อมของอุปกรณ์ความปลอดภัยบนเรือ ก่อนการทำงานอีกด้วย

——————————————

 

กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์

8 เมษายน 2564

TOP