Skip to main content

รมว.เฮ้ง มอบ ผู้ช่วย ปิดแข่งขันทักษะหุ่นยนต์หนุนศักยภาพ EEC

รายละเอียดเนื้อหา

          ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน ประธานกล่าวปิดการแข่งขันทักษะฝีมือด้านหุ่นยนต์–สมองกล เพิ่มขีดความสามารถแข่งขันของประเทศและ EEC

          วันที่ 24 ธันวาคม 2564 เวลา 10.00 น. นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เป็นประธานกล่าวปิดการแข่งขันทักษะฝีมือแรงงาน สาขาระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ ครั้งที่ 2 “MARA Skill Competition 2021” ระหว่างวันที่ 23-24 ธันวาคม 2564 แข่งขัน 6 สาขา แบ่งเป็น 3 สาขาแข่งขันแบบทีมๆ ละ 2 คน ได้แก่ สาขาเมคคาทรอนิกส์ สาขาพีแอลซี สาขาซ่อมบำรุงหุ่นยนต์ และแบบบุคคล 3 สาขา ได้แก่ สาขาหุ่นยนต์ สาขาเขียนแบบเครื่องกลด้วยคอมพิวเตอร์ (CAD) สาขาปัญญาประดิษฐ์ ซีลาร์ คอร์ (CiRA CORE) ผู้เข้าแข่งขันเป็นนักศึกษาอยู่ในวิทยาลัยอาชีวศึกษาเขต EEC อาทิ วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก อี.เทค วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี วิทยาลัยเทคนิคระยอง วิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา วิทยาลัยเทคโนโลยีไออาร์พีซีเป็นต้น ณ  สถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี

นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง กล่าวว่า ผมขอแสดงความยินดี และชื่นชมกับผู้เข้าแข่งขันทุกคน ขอให้ผู้เข้าแข่งขันทุกคนนำประสบการณ์ที่ได้รับจากการแข่งขันในครั้งนี้ไปต่อยอดและพัฒนาทักษะให้ดีขึ้นเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น และความก้าวหน้าในอาชีพของตนเองและขยายผลไปยังส่วนรวมในอนาคต

          สำหรับผลการแข่งขัน MARA Skill Competition 2021 สาขาเมคคาทรอนิกส์ พีแอลซี อันดับที่ 1 ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคพัทยา อันดับที่ 2 ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคพนมสารคาม และอันดับที่ 3 ได้แก่ วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก (อี.เทค) สาขาหุ่นยนต์ดูบอต อันดับที่ 1 ได้แก่วิทยาลับเทคนิคปราจีนบุรี อันดับที่ 2 ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคระยอง และอันดับที่ 3 ได้แก่ วิทยาลัยอาชีวะศึกษาฐานวิทยาศาสตร์ (ชลบุรี) สาขาช่างซ่อมบำรุงหุ่นยนต์อุตสาหกรรม อันดับที่ 1 ได้แก่ วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก (อี.เทค) อันดับที่ 2 ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคระยอง และอันดับที่ 3 ได้แก่ วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาตากสินระยอง สาขาเขียนแบบเครื่องกลด้วยคอมพิวเตอร์ อันดับที่ 1 ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคระยอง อันดับที่ 2 ได้แก่ วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก (อี.เทค) และอันดับที่ 3 ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคพนมสารคาม และสาขาปัญญาประดิษฐ์ซีร่า คอร์ อันดับที่ 1 ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคระยอง อันดับที่ 2 ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี และอันดับที่ 3 ได้แก่ วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก (อี.เทค) ซึ่งผู้เข้าแข่งขันที่ชนะเลิศของแต่ละสาขาจะได้รับรางวัล ดังนี้  อันดับที่ 1 จะได้รับเงินรางวัล 5,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน อันดับที่ 2 รับเงินรางวัล 3,000 บาท อันดับ 3 รับเงินรางวัล 2,000 บาท

          ทั้งนี้ ในปี 2564 กรมพัฒนาฝีมือแรงงานโดยสถาบัน MARA ซึ่งเป็นหน่วยฝึกอบรมที่จัดตั้งขึ้นตามภารกิจพิเศษ ในการพัฒนากำลังแรงงานในสาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ในพื้นที่ EEC ได้ดำเนินการฝึกอบรม Up Skill และ Re skill โดยใช้รูปแบบการฝึกแบบมีส่วนร่วมจากภาคเอกชน เรียกว่า “EEC Model Type B” ควบคู่ไปกับการฝึกอบรมตามแผนงานโครงการพัฒนาศักยภาพกำลังแรงงานปกติของสถาบัน MARA และโครงการพิเศษของรัฐบาลทั้งงบประมาณจากโครงการเศรษฐกิจฐานรากและงบกลางของรัฐบาล ซึ่งสามารถพัฒนากำลังแรงงานได้กว่า 2,000 คน โดยในปี 2565 มีการเตรียมหลักสูตรใหม่อีกกว่า 30 หลักสูตรด้านเทคโนโลยีอัตโนมัติ หุ่นยนต์ โปรแกรมการผลิตเครื่องจักรกลการผลิตและเครื่องมือวัด และระบบโลจิสติกส์ ซึ่งคาดว่าจะสามารถพัฒนากำลังแรงงานได้ไม่ต่ำกว่า 2,000 คนเช่นกัน

++++++++++++++++++++++++

กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์

24 ธันวาคม 2564

TOP