Skip to main content

รมว.เฮ้ง เผย ศบค.รับทราบมาตรการช่วยแรงงานกระทบโควิด

รายละเอียดเนื้อหา

          นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 (ศบค.) เผย ที่ประชุมรับทราบมาตรการเพื่อบรรเทาและช่วยเหลือผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด -19 ปรับลดเงินสมทบแก่นายจ้างและลูกจ้างเหลือร้อยละ 3 เป็นเวลา 3 เดือน (ม.ค. – มี.ค.64) และจ่ายชดเชยว่างงานจากเหตุสุดวิสัยร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน ไม่เกิน 90 วัน

          เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2563 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ร่วมการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ณ ตึกสันติไมตรี หลังนอก ทำเนียบรัฐบาล โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมด้วย โดยที่ประชุมได้รับทราบรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดและผู้ติดเชื้อ และมาตรการด้านสาธารณสุขกรณีการแพร่ระบาดใน จ.สมุทรสาคร จ.สมุทรปราการ จ.นครปฐม จ.พระนครศรีอยุธยา จ.กรุงเทพมหานคร และตามแนวชายแดน ความคืบหน้าการพัฒนาและผลิตวัคซีนโรคโควิด -19 การป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด -19 ใน จ.สมุทรสาคร จ.สมุทรปราการ จ.นครปฐม จ.พระนครศรีอยุธยา จ.กรุงเทพมหานคร และแนวชายแดน มาตรการจัดกิจกรรมในช่วงเทศกาลปีใหม่และวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2564 ในส่วนของกระทรวงแรงงานมีมาตรการเพื่อบรรเทาและช่วยเหลือผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโคิด -19 มาตรการและแนวทางการใช้แอพพลิเคชั่นเพื่อรองรับการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีวาระเพื่อพิจารณา ได้แก่ ความเหมาะสมในการจัดงานฉลองปีใหม่ 2564 ความเหมาะสมในการจัดงานวันเด็ก และความเหมาะสมในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันแบดมินตันนานาชาติ เป็นต้น

          สำหรับมาตรการของกระทรวงแรงงาน เพื่อบรรเทาและช่วยเหลือผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโคิด -19 ได้แก่ ปรับลดเงินสมทบฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายผู้ประกันตนตามมาตรา 33 เหลือร้อยละ 3 และผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ลดลงเหลือ 278 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน (ตั้งแต่เดือนมกราคม – มีนาคม 2564) เพื่อช่วยเหลือนายจ้าง และผู้ประกันตนที่ยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วย แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของนายจ้าง และผู้ประกันตน ในการจ่ายเงินสมทบรวมเป็นเงินจำนวน 15,660 ล้านบาท
          นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรียังเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจาการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ โดยสาระของร่างดังกล่าว กำหนดให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย และหน่วยงานของรัฐสั่งปิดพื้นที่เพื่อป้องกันการระบาด ของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ เป็นผลกระทบให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนไม่ได้ทำงาน และไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น โดยให้ลูกจ้างดังกล่าวซึ่งไม่ได้รับค่าจ้างดังกล่าว มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน ในกรณีว่างงาน ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่รัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐ สั่งปิดพื้นที่ ทั้งนี้ ภายในระยะเวลา 1 ปีปฏิทินมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย ทุกครั้งรวมกันไม่เกิน 90 วัน ดังนั้น หากร่างกฎกระทรวงฯ มีผลใช้บังคับจะทำให้ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบ จากการที่หน่วยงานของรัฐสั่งปิดพื้นที่เพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดต่ออันตราย คาดว่าจะมีผู้ใช้สิทธิ จำนวน 700,727 ครั้ง ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย คิดรวมเป็นเงินกว่า 5,225 ล้านบาท

+++++++++++++++++++

กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์

24 ธันวาคม 2563

TOP